ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งด้านการปลูก เก็บเกี่ยวและแปรรูป รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีผลงานวิจัยระดับประเทศและภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม รวมถึงมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการถึงระดับโรงงานนำทาง นอกจากนี้นักวิจัยและบุคลากรของ วว. ยังมีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม

“ความร่วมมือและการบูรณาการระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ วว. ในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสวนยางพารา ตลอดจนการแปรรูป สร้างมูลค่ายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต  ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ปลูกต้นยางพารามากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมการปลูกพืชเสริม เช่น สมุนไพรที่มีความต้องการของตลาดสูง เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำไปสกัดสารสำคัญและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีมูลค่าสูง สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งจะช่วยยกระดับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการใช้ทรัพยากรและสินทรัพย์ของทั้งสององค์กรร่วมกัน ร่วมมือวิจัยและพัฒนาพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการบูรณาการ สร้างมูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนขององค์กร ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน

“นโยบายในเรื่องของคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานหันมาตระหนัก กยท. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญ เกษตรกรสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยโครงการนำร่องจะนำสวนยางพาราของ กยท. 20,000 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบศึกษา เพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกรสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งในปี 2565 กยท. จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่ง ที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สร้างความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทยกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่จะเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการร่วมกับ กยท. ต่อไป”