เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวทางข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 2/2564 พร้อมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อน นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยอย่างยั่งยืน โดยมีนายแพทย์สราวุฒิบุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในการประชุม และนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวงต่างๆ รวมถึงคณะทำงานขับเคลื่อนและบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงชีวิต กลุ่มเด็กวัยเรียน จำนวน 50 คน เข้าร่วมการประชุม ณโรงแรมที เค พาเลส แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ดร. อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในวันนี้เมื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เราจึงต้องเตรียมคนให้พร้อมในศตวรรษที่ 21 โดยเป้าหมายของเด็กในอนาคตคือได้เรียนรู้ตามความถนัด ความสนใจ เหมาะสมกับช่วงวัย เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีสมรรถนะที่สำคัญติดตัวไปใช้ในการดำรงชีวิต มีเป้าหมายและเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง มีความรู้เท่าทันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเป็นผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์สำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

“ที่ผ่านมาสพฐ. ได้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาโดยตลอด ตามนโยบายของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนหรือ Quickwin ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน หลักสูตรฐานสมรรถนะ และการพัฒนาทักษะทางอาชีพ ที่ให้ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ มีการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล พลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ด้านการศึกษา โดยสมรรถนะเหล่านี้จะทำให้เด็กคิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในสังคมต่อไป” นางเกศทิพย์ กล่าว

ด้านนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของประชากรไทยทุกช่วงวัย ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นเป็นการวางรากฐานโครงสร้างคุณภาพคนที่ดีที่สุด เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดดี การเรียนรู้ที่ดี มีความพร้อมทุกด้าน ส่งต่อไปสู่เยาวชนที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต โดยกลไกความร่วมมือที่สำคัญ คือ ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ระหว่าง 12 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน มีวิสัยทัศน์ มุ่งให้เด็กไทยแข็งแรง เป็นคนดี มีทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 นับเป็นนโยบายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพด้วยหลัก 4 H (ฉลาด (Head) ดี (Heart) มีทักษะ (Hand) แข็งแรง (Health) ภายใต้การมีส่วนร่วมของครอบครัว (Home) และชุมชน

.

ขณะที่แพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทย จากสถานการณ์ปัญหาคุกคามพัฒนาการของเด็กในประเทศหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ภาวะโภชนาการ มีเชาวน์ปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การไม่ได้เรียนต่อ เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และปัญหาช้ำเติมจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 หากไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที จะคุกคามศักยภาพเด็กมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะต้องให้ความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้มากขึ้น ด้วยนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต แผนการพัฒนาเด็กช่วงวัยเรียนวัยรุ่น มีเป้าหมายมุ่งให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีความรู้ และทักษะในศตวรรษที่ 21 ครบถ้วน รู้จักคิด วิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความสามารถในการแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล ตลอดชีวิตดีขึ้น จึงเป็นโอกาสเอื้ออำนวยแก่องค์กรด้านเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ในการสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อนตามทิศทางให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน

‘สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 มุ่งให้เกิดการบูรณาการงานร่วมกันชัดเจน มีความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์วิถีชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะทำงานขับเคลื่อนและบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต กลุ่มวัยเรียน ซึ่งเป็นผู้แทนจาก 12 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้ใช้โอกาสร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำอย่างรอบคอบรอบด้าน ในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน อาทิเป้าประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด มาตรการหลัก ระบบข้อมูล ระบบติดตามประเมินผล และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นระบบชัดเจน” นายแพทย์เอกชัย กล่าว