นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยถึงผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 64 ที่สำรวจวันที่ 8 ก.ย.-16 ธ.ค.64 ว่า ปี 64 แม้มีการระบาดของโควิด-19 ในไทย แต่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นกลับเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 4,370 ร้าน (ไม่รวมร้านอาหารที่ปิดชั่วคราวเพราะผลกระทบโควิด-19) เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 50 ที่มีเพียง 745 ร้าน และเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบปี 63 ที่มี 4,094 ร้าน โดยอยู่ในต่างจังหวัด 2,297 ร้าน เพิ่มขึ้น 15.5% จากปี 63 ที่มี 1,989 ร้าน และในกรุงเทพฯ 2,073 ร้าน ลดลง 1.5% จากปี 63 ที่มี 2,105 ร้าน นับเป็นครั้งแรกที่ร้านในต่างจังหวัดมีจำนวนแซงหน้าในกรุงเทพฯ  

สำหรับประเภทร้านที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษคือ ร้านซูชิ เพิ่มถึง 342 ร้าน รวม 1,196 ร้าน โดยเฉพาะการเพิ่มสาขาแบบแฟรนไชส์ ตามด้วยภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น 197 ร้าน รวม 1,071 ร้าน ร้านราเมง 80 ร้าน รวม 459 ร้าน เป็นต้น ส่วนเมื่อแยกร้านอาหารด้วยราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว พบว่า ราคาที่มีจำนวนร้านมากที่สุดคือ 101-250 บาท มีมากถึง 1,659 ร้าน ตามด้วยราคา 251-500 บาท มี 1,115 ร้าน, ต่ำกว่า 100 บาท รวม 563 ร้าน, ราคา 501-1,000 บาท รวม 488 ร้าน, เกิน 1,000 บาท รวม 140 ร้าน และไม่สามารถยืนยันได้ 405 ร้าน 

“แม้ว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมาก แต่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยยังเพิ่มขึ้นมาก เพราะคนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น เมื่อกินอาหารที่ญี่ปุ่นก็อยากกลับมากินที่ประเทศไทย จึงมีร้านอาหารญี่ปุ่นกระจายตัวทุกจังหวัดของไทย ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ และจากการสัมภาษณ์ความชื่นชอบอาหารของชาติใด พบว่า อาหารญี่ปุ่น ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 รองจากอาหารไทย คาดว่า อาหารญี่ปุ่นในไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยผู้เกี่ยวข้องในวงการอาหาร คาดว่า ในอนาคตจะมีร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ปรับให้เข้ากับรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” 

ทั้งนี้ จากความนิยมอาหารญี่ปุ่นในไทย ส่งผลให้ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงเครื่องดื่ม มาไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 62 มีมูลค่า 39,500 ล้านเยน ปี 63 เพิ่มเป็น 40,100 ล้านเยน และปี 64 ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) อยู่ที่ 36,700 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันของปี 63 สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลา เนื้อวัว สาเก มันเทศ มันหวาน ชาเขียว แอปเปิล ลูกพลับ สตอเบอรี่ องุ่น 

สำหรับผลกระทบของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น พบว่า ยอดขายลดลงมากในช่วงที่มีการห้ามนั่งทานอาหารในร้าน จากรายงานงบการเงินของเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ พบว่า ไตรมาส 1-3 ปี 64 ยอดขายลดลงถึง 28-56% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมอาหารในไทยปี 64 จะหดตัวลง 13.5-17.3% คิดเป็นมูลค่า 350,000-335,000 ล้านบาท แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 ที่คลายล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน ยอดขายฟื้นตัวขึ้นถึง 70-80% ของก่อนเกิดการระบาด แต่สถานการณ์การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับเมนูอาหาร สถานที่ตั้งของร้าน และกลุ่มลูกค้า  

“ผู้เกี่ยวข้องในวงการอาหาร คาดว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ต้องรับมือ เช่น ขาดแคลนแรงงาน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนไปหันสั่งอาหารผ่านออนไลน์ และฟู้ดดิลิเวอรี่มากขึ้นหลังโควิด-19 แพร่ระบาด แต่หากการระบาดคี่คลาย และการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวกลับมา ธุรกิจร้านอาหารก็จะฟื้นตัวกลับมาได้” 

การสำรวจครั้งนี้ ได้สำรวจจำนวนร้าน และสัมภาษณ์ภาคธุรกิจ 13 บริษัท/องค์กร ครอบคลุมร้านอาหารที่ให้บริการอาหารญี่ปุ่น หรืออาหารที่มีการดัดแปลงให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น, ร้านอาหารที่มีเมนูอาหารญี่ปุ่นเกินครึ่งของเมนูทั้งหมด และร้านอาหารที่มีการจัดที่นั่งสำหรับลูกค้าเป็นการถาวร (ไม่รวมร้านที่ให้บริการดีลิเวอรี่อย่างเดียว และไม่มีที่นั่งในร้าน) ทั้งที่เป็นภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น, ร้านซูชิ ร้านอาหารประเภทปลา ร้านอาหารทะเล, ร้านราเมง เกี๊ยวซ่า, ร้านสุกี้ยากี้ ชาบู, ร้านอิซากายะ ร้านไก่ย่าง, ร้านบาร์บีคิว ร้านเนื้อวัว (ยาคินิคุ), ร้านกาแฟ เค้ก, ร้านข้าวหน้าเนื้อ, ร้านอาหารตะวันตกสไตล์ญี่ปุ่น, ร้านข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ข้าวห่อไข่, ร้านอาหารทอด (ทงคัตสึ), ร้านอาหารย่างกระทำร้อน พิซซ่าญี่ปุ่น ทาโกะยากิ และร้านโซบะ อูด้ง