เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิดโอมิครอน” มีเนื้อหาดังนี้…

“ทีมวิจัยของญี่ปุ่นนำไวรัสโอมิครอนไปทดสอบความรุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ โดยเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และ เดลตา พบว่า หนูแฮมสเตอร์ติดโควิดจากสายพันธุ์เดิม และ เดลตา ได้ดี มีอาการเห็นชัดมากจากน้ำหนักตัวที่ลดลงหลังติดเชื้อ ส่วนหนูที่ติด โอมิครอน น้ำหนักแทบไม่ลดลงเลยเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับเชื้อ อาการป่วยปอดติดเชื้อดูจากระดับออกซิเจนก็ไปในแนวเดียวกัน

เมื่อนำปอดของแฮมสเตอร์ในแต่ละกลุ่มมาตรวจสอบก็เห็นชัดว่า โอมิครอน ติดปอดหนูเหล่านี้ไม่ดีเท่าไวรัสอีกสองชนิด

ทีมวิจัยเชื่อว่า โอมิครอน เป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตรงตำแหน่งของโปรตีนหนามสไปค์ที่ทำให้ถูกตัดโดยเอนไซม์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ได้น้อยลง เมื่อสไปค์เปลี่ยนยาก ก็เข้าสู่เซลล์ได้ยาก ทำให้ความรุนแรงในสัตว์ทดลองน้อยลง

คำอธิบายดังกล่าวยังใช้อธิบายไม่ได้ว่าถ้าเข้าสู่เซลล์ได้ยาก เหตุใดไวรัสโอมิครอนถึงเพิ่มจำนวนได้ไวกว่าในเซลล์หลอดลมมนุษย์ถึง 70 เท่า และแพร่กระจายได้ไวมาก หรืออาจเป็นไปได้ว่าหนูแฮมสเตอร์อาจจะไม่ใช่ model ที่เหมาะสมในการศึกษาความรุนแรงของโอมิครอนเหมือนสายพันธุ์อื่นแล้ว เพราะโอมิครอนจับกับโปรตีน ACE2 ของแฮมสเตอร์ไม่ดีเหมือนสายพันธุ์อื่น???…

ไม่แน่ใจว่าความสามารถในการแพร่กระจายจากแฮมสเตอร์ติดเชื้อไปหาแฮมสเตอร์จะเหมือนที่พบได้ในมนุษย์ตอนนี้หรือไม่นะครับ ถ้าไม่เหมือนคาดว่า คำถามจะกลับมาที่ทีมวิจัยว่า ตกลงโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าขนาดนั้นจริงๆหรือ…

แน่นอนครับทุกคนอยากให้โอมิครอนเป็นแบบที่พบในแฮมสเตอร์ครับ แต่ตอนนี้ผลการทดลองยังมีอีกหลายคำถามที่ต้องตอบให้ชัดเจน