เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า Omicron ของไทย ติดเชื้อเพิ่ม 10 เท่าใน 10 วัน แต่เสียชีวิตน้อย
จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (VOC) เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564
ขณะนี้ได้ผ่านไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนเศษ ข้อมูลเกี่ยวกับสามมิติของไวรัสปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับดังนี้
1) ความสามารถในการแพร่ระบาดชัดเจนว่า แพร่ระบาดได้รวดเร็วและกว้างขวางมากกว่าเดลต้ามาก นับเป็นหลายเท่าตัว
ในยุโรปเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 3 วัน ที่อิสราเอลเพิ่ม 4 เท่า ในเวลา 10 วัน
ส่วนประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าใน 10 วัน โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ Omicron ทั้งสิ้น 154 ราย พอ 10 วันถัดมา ในวันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ติด Omicron ทั้งสิ้น 1551 ราย นับเป็น 10 เท่าตัว
2) ความสามารถในการก่อโรค หรือการสร้างความรุนแรงในการเจ็บป่วย
มีรายงานการศึกษาพบว่า ไวรัสนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจบริเวณลำคอและหลอดลมส่วนต้นได้ง่ายและมากกว่าเดลต้า
แต่ลงไปทำอันตรายกับถุงลมหรือตัวเนื้อปอดน้อยกว่าเดลต้า จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่า
มีสัดส่วนของการเข้าไอซียู และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่า เพราะไม่ได้ทำอันตรายที่เนื้อเยื่อปอดในระดับถุงลมที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน
จึงส่งผลไปถึงการเสียชีวิต ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าด้วย
และสำหรับประเทศไทยก็พบเช่นเดียวกันว่า ในขณะที่มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว แต่การเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3) การดื้อต่อวัคซีน เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีน 2 เข็มของบริษัทชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี mRNA ไวรัสเป็นพาหะ หรือเชื้อตาย ล้วนแต่มีประสิทธิผลลดลงในการรับมือกับ Omicron
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนการติดเชื้อที่ตรวจพบในสถานกักตัวของผู้เดินทางจากต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
จากวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 63 ราย พอ 3 มกราคม 2565 ผู้ติดเชื้อจากประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 168 ราย
และทำนองเดียวกัน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 พบการทดสอบเป็นบวกจาก ATK 590 ราย พอ 3 มกราคม 2565 ผลการตรวจจาก ATK เพิ่มเป็น 1939 ราย
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงพอประมวลสรุปในขณะนี้ได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ Omicron มีความสามารถในการแพร่เชื้อกว้างขวางรวดเร็วทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็มีระดับการแพร่เชื้อที่รวดเร็วไม่ได้น้อยกว่าในต่างประเทศเลย
ส่วนในประเด็นเรื่องความรุนแรงของโรค ก็ติดเชื้อลงปอดน้อย ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตน้อย เช่น เดียวกับที่พบในต่างประเทศ
ส่วนการดื้อต่อวัคซีน ก็ชัดเจนว่าวัคซีน 2 เข็มรับมือ Omicron ได้ไม่ดีนัก
ดังนั้นการรับมือกับ Omicron ตอนนี้ คงจะต้องเน้นไปที่ ลดการแพร่ระบาดลง โดยเน้นเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง เพื่อให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย
ส่วนการรับมือกับเรื่องความรุนแรงนั้น ในโรงพยาบาลหลักคงยังพอจะรับมือไหวในช่วงนี้
และการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้ 50 ล้านโดส ก็คงจะช่วยรับมือได้ในระดับหนึ่งด้วย