เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 3 ม.ค.ว่า มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 332 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 317 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.48 และคดีขับเสพ15 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.52 สำหรับสถิติสะสมรวมหกวัน มียอดคดีทั้งสิ้น 5,767 คดี จำแนกเป็น ขับรถในขณะเมาสุรา 5,200 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.17 ติด EM 10 ราย ขับรถประมาท 11 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.19 ติด EM 1 ราย และขับเสพจำนวน 556 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.64 ส่วนจังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ชัยภูมิ 403 คดีบุรีรัมย์ 350 คดี และสกลนคร 278 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ สะสม 6 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 และ พ.ศ.2565 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ.2564 มีจำนวน 2,399 คดี กับปี พ.ศ.2565 มีจำนวน 5,200 คดี เพิ่มขึ้น 2,801 คดี คิดเป็นร้อยละ 53.8 หากเปรียบเทียบสถิติคดีรายวัน (3 ม.ค.) ที่เข้าสู่การคุมประพฤติช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2565 มีจำนวน 332 คดี เทียบกับปีที่แล้ว จำนวน 326 คดี พบว่าเพิ่มขึ้น 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.8

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน โดยร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ พร้อมทั้งจัดให้มีการทำงานบริการสังคม โดยการตรวจเยี่ยมด่าน แจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น ตรวจวัดอุณหภูมิ และอำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชนที่เดินทางตามจุดบริการประชาชน และด่านชุมชน จำนวน 47 จุด โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 693 คน ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้น โดยมาตรการทางกฎหมายจะประเมินและคัดกรองผู้กระทำผิด และกำหนดมาตรการตามระดับปัญหา โดยการคุมประพฤติให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ได้แก่ ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ (กำหนด 3 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี) ให้ทำงานบริการสังคมซึ่งเป็นการทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนอาจให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม พักใช้ใบอนุญาตขับรถ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้เข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/วินัยจราจร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และให้ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด มาตรการแก้ไขฟื้นฟู จะคัดกรองและประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีแนวโน้มการติดสุราสูงจะส่งไปบำบัดที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระยะเวลา 4 เดือน หากพบว่ามีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำสูงจะส่งไปแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะเวลา 3 วัน โดยใช้กระบวนการกลุ่มร่วมกับการทำงานบริการสังคมที่สร้างจิตสำนึกและความตระหนักถึงผลกระทบของการขับรถในขณะเมาสุรา เช่น การดูงานห้องดับจิตและตึกอุบัติเหตุการดูแลเหยื่ออุบัติเหตุ ผู้พิการ เป็นต้น