เริ่มต้นสัปดาห์แรกของปี 2565 หลายฝ่ายฟันธงตรงกันการเมืองปีเสือจะร้อนแรง มีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจต้องถอดใจกดปุ่มประกาศยุบสภา ก่อนครบวาระเดือน มี.ค.2566

หากมองในมุมโหราศาสตร์ “โสรัจจะ นวลอยู่” เจ้าของฉายานอสตราดามุสเมืองไทย ทำนายไว้ล่วงหน้า ในปี 2565 ซึ่งตรงกับ “ปีขาล” มีดาวสำคัญที่เคลื่อนย้ายอยู่หลายดวง

ถือว่าสยามประเทศเข้าสู่สภาวะมิคสัญญี!

เนื่องด้วยการที่ดาวอังคาร (๓) ที่อยู่ในราศีพิจิก จะเล็ง พระราหู(๘) และ ดาวพระเกตุ(๙) ที่สถิตอยู่ราศีพฤษภตั้งแต่วันที่ 1-15 ม.ค. 2565 โดยในช่วงนี้จะมีความร้อนแรง หรือมีข่าวที่ทำให้ตกอกตกใจได้ ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องเกี่ยวกับโรคระบาด เพราะ ดาวอังคาร(๓) เป็นดาวที่แสดงถึงพลังอำนาจโดยแท้ ทำให้เกิดการขัดแย้งกันภายในประเทศ ความคิดแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม

“กลางปี 2565 จะเป็นช่วงที่แตกหัก ดังนั้นถ้ามีอะไรก็ให้พยายามคุยกัน แต่ก็อาจจะไม่ยอมกัน กลายเป็นการหันหลังคุยกัน ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะน่าเป็นห่วง เพราะจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายปีกว่าจะสงบกว่าจะแก้ไขได้” เจ้าของฉายานอสตราดามุสเมืองไทย ทำนายช่วงหนึ่ง

“โสรัจจะ นวลอยู่” เจ้าของฉายานอสตราดามุสเมืองไทย

หากมองในมุมไทม์ไลน์การเมือง ต้องยอมรับตลอดปี 2565 จะมีเงื่อนปมสำคัญที่เป็นตัวแปรสำคัญ ส่งผลกระทบกับภาพอนาคตการเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก

(1) “ช่วงที่หนึ่ง” ตั้งแต่เดือน ม.ค.- ก.พ.

ที่ประชุมรัฐสภามีกำหนดพิจารณากฎหมายสำคัญคือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ วาระที่หนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อตั้งไข่แก้รายละเอียดกติกาเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ ตั้งไข่เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตามกติกาใหม่ ปรับให้มี ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน

คู่ขนานกับฝ่ายค้านภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อุ่นเครื่องประจานรัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับ ความล้มเหลว การแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 28 ก.พ.

(2) “ช่วงที่สอง” คือจังหวะเปิดสมัยประชุมสามัญ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.- 18 ก.ย. ซึ่งร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ มีกำหนดโหวตผานวาระที่สองและสาม ช่วงเดือน ก.ค.

โดยหลายฝ่ายประเมินทันทีที่กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จะเกิดแรงกดดันจากทุกสารทิศ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา เลือกตั้งตามกติกาใหม่

จากนั้นช่วงเดือน ส.ค. ฝ่ายค้านเตรียมใช้ช่อง รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เข้าชื่อ ส.ส. ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาด วาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

ท้ายสุดในช่วงนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกหน้าไหน จะเกิดแรงกระเพื่อม จากกลุ่มการเมืองทั้งสองขั้ว

สำหรับตัวแปรในช่วง เดือน ก.ย. คาดว่าฝ่ายค้านภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเตรียม ยื่นญัตติอภิปราย ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นัดทิ้งทวนครั้งสุดท้าย

หากในช่วงนั้นพล.อ.ประยุทธ์คุมเสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ มีแนวโน้มสูงที่อาจถูกฝ่ายตรงข้าม เดินสายล็อบบี้โหวตล้มนายกรัฐมนตรี ซ้ำรอยศึกซักฟอกรอบที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในจังหวะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องประคองให้กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงินผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาฯ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินแก้ปัญหาโควิดฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท

หากเกิดแรงกระเพื่อมภายในรัฐบาล กฎหมายการเงินไม่ผ่านสภาฯ ตามธรรมเนียมนายกฯประยุทธ์ต้องยุบสภา แสดงความรับผิดชอบ

ทั้งหมดข้างต้นคือภาพเส้นทางการเมืองมิคสัญญีปีเสือดุ ที่มีสารพัดปัญหารอคอย พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เบื้องหน้า!