เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้ถ่ายคลิปลามกอนาจารเป็นจำนวนมาก โดยคนร้ายใช้วิธีล่อลวงเด็กผ่านเกมออนไลน์ หลอกว่าจะเติมเงินหรือส่งไอเทมภายในเกมให้เพื่อแลกกับการส่งภาพลามกอนาจารให้ ซึ่งเด็กส่วนมากมักจะหลงเชื่อ จากนั้นคนร้ายก็บันทึกภาพไว้ แล้วนำมาข่มขู่กรรโชกทรัพย์ ให้เด็กจ่ายเงินหรือบังคับให้ส่งภาพหรือคลิปลามกเพิ่มเติม มิฉะนั้นจะเผยแพร่ภาพของเหยื่อในสื่อสังคมออนไลน์ หรือขู่ว่าจะส่งไปให้ครูอาจารย์ หรือบุคคลที่เด็กรู้จัก ทำให้หวาดกลัวยอมทำตามคนร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงใยอย่างมากในการกระทำต่อเด็กและเยาวชน

รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงผู้ที่คิดกระทำความผิดดังกล่าว จะมีความผิดหลายข้อหาด้วยกัน ดังนี้

  • ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287/1
  • ส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287/1

-ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309

  • กรรโชกทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
  • นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(4)

นอกจากนี้เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เด็กหรือเยาวชนตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากไปยัง บิดา มารดา และผู้ปกครอง ให้กำกับดูแลสอดส่อง การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และการสนทนากับบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ทั้งนี้ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง