จากกรณีประเด็นทางสังคมหลังจาก นิติบุคคลและพนักงานรักษาความปลอดภัยในคอนโดฯ​ ที่เกิดเหตุสาวลูกบ้านถูกหัวหน้า​ รปภ.บุกเข้าไปข่มขืน ซึ่งภายหลัง เพื่อนและญาติตามตำรวจจะขึ้นไปช่วยเหลือ แต่กลับเข้าไปในห้องผู้เสียหายไม่ได้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า นิติบุคคลและ​ รปภ.ด้านหน้า กำลังหน่วงเหนี่ยว ถ่วงเวลา ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเป็นเหตุให้ผู้ก่อเหตุหลบหนีไปได้หรือไม่

ต้นสังกัด ‘หน.รปภ.หื่น’ โร่ปิดเฟซฯหนี นิติบุคคลโดนด้วย ชาวเน็ตรุมถล่มยับ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก​ บช.น. เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในช่วงที่เกิดเหตุมีแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยเท่านั้น นิติบุคคลไม่ได้อยู่แต่อย่างใด และเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้โทรฯ​ แจ้งกลุ่มเพื่อนให้ทราบเหตุก่อน เมื่อกลุ่มเพื่อนรับทราบจึงเดินทางไปถึงเวลาประมาณ 01.00 น. พนักงานรักษาความปลอดภัยได้ตรวจสอบและยังไม่ได้ให้เข้าไป จนกระทั่งต่อมาเมื่อเวลา 01.52 น. ได้มีการแจ้งเหตุมาที่ 191 หลังจากนั้นตำรวจได้ไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 01.57 น. ตรวจสอบระบบกล้องวงจรปิดเมื่อเวลา 02.00 น.ในการปฏิบัติ พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ได้มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างไร ตำรวจใช้เวลาประมาณ 5 นาที ไปถึงที่เกิดเหตุคาดว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนีไปก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเหตุ และเดินทางไปถึง

โฆษก​ บช.น. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สังคมมีความสงสัยว่าผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยมาได้อย่างไร ขอชี้แจงว่าผู้ต้องหาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง ทางบริษัทได้มายื่นขอใบอนุญาตกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 10 ต.ค.62 โดยในปี 62 นั้น มีบริษัทรักษาความปลอดภัยมายื่นจำนวน 90 บริษัท มีพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้น 4,530 คน ผู้ต้องหามีรายชื่ออยู่ลำดับที่ 993 บช.น.ออกใบอนุญาตไปเมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 การออกใบอนุญาตไม่ใช่ใบรับรองความประพฤติ แต่เป็นกรณีรับรองว่ามีคุณสมบัติที่สามารถปฏิบัติงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้เท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าขาดคุณสมบัติ ก็จะต้องทำการเพิกถอนใบอนุญาต คล้ายๆ​ กับกรณีได้รับใบอนุญาตขับขี่ ก็ไม่ได้เป็นการรับรองความประพฤติของผู้ขับขี่ เมื่อมีเหตุที่ขาดคุณสมบัติ ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ได้เช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องหาขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ขณะนี้​ ผบช.น.ได้เพิกถอนใบอนุญาตของผู้ต้องหาไปแล้ว ในวันที่ 6 ม.ค.65

“….ขั้นตอนในการตรวจสอบประวัติอาชญากรของพนักงานนั้น เนื่องจากมี รปภ.ในกรุงเทพมหานคร ถึง 100,000 คนเศษ ในทางปฏิบัติ จึงมอบหมายให้แต่ละบริษัทนำพนักงานไปทำการตรวจสอบประวัติที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร เมื่อผลการตรวจเสร็จเรียบร้อย กองทะเบียนประวัติจะแจ้งเป็นหนังสือให้กับทางบริษัทโดยตรง หลังจากนั้นแต่ละบริษัทรวบรวมเอกสารมาเสนอที่​ บช.น. ตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยจึงเสนอออกใบอนุญาต จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ต้องหามีประวัติถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่​ จ.สระแก้ว เมื่อปี 56 และพ้นโทษวันที่ 26 ก.พ.60 เมื่อนับถึงเวลาที่มายื่นขอใบอนุญาต เป็นเวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือน ถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติที่จะออกใบอนุญาตได้ ผบช.น.ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร่งด่วน แต่เนื่องจากการออกใบอนุญาตเกิดในปี 62 เอกสารมีจำนวนมากอยู่ระหว่างการตรวจสอบต้นเรื่องเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นความบกพร่องมาจากส่วนไหนกันแน่ ตั้งแต่การรวบรวมเอกสารของบริษัทจนถึงการพิจารณาของ​ บช.น. และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป…” โฆษก​ บช.น.กล่าว