นายมงคล ขนาดนิด ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวชี้แจงหัวข้อ “Cryptocurrency เสียภาษีอย่างไร” ผ่านเพจกองกฎหมาย กรมสรรพากรว่า คริปโทเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นทรัพย์สินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่ง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นจากคนทำเหมือง คนที่ได้เหรียญถือไว้แล้วนำไปฝาก เกิดผลตอบแทนกลับมา หรือนำเหรียญไปเปลี่ยนมือ ขายออกมา แล้วได้ทรัพย์สินมา  โดยมีรายละเอียดเรื่องภาษีอากร ดังนี้

1. กลุ่มคนทำเหมือง หรือขุดบิทคอยน์

ต้องมีการลงทุนค่อนข้างมาก ทั้งซื้อคอมพิวเตอร์ การ์ดจอ สร้างอาคาร ติดแอร์ เป็นต้น โดยคนที่ทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี่ เปรียบเสมือนโรงงานผลิตสินค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิต ฉะนั้น ต้นทุนที่จ่ายออกไปต่าง ๆตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นต้นทุนในการผลิต ซึ่งจนถึงวันหนึ่งที่ขุดเหรียญขึ้นมาได้ แปลว่าได้ทรัพย์สินมา ส่วนจะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินเลยหรือไม่นั้น ตามกฎหมาย ในประมวลรัษฎากร กระบวนการต่าง ๆที่ทำให้เกิดสินค้าสำเร็จรูปขึ้นมา ยังไม่ถูกนับว่าเป็นเงินได้

Bitcoin and crypto mining farm. Big data center. High tech server computers at work

 “เงินได้จะเกิดก็ต่อเมื่อนำสินค้า หรือคริปโทฯ ไปขาย ฉะนั้น สิ่งที่คนทำเหมืองจะต้องเข้าใจให้ตรงกัน คือ เมื่อพูดถึงภาษี กรณีที่ขุดเหมือง เงินได้จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อนำเหรียญที่เกิดจากการขุดเหมืองได้ไปขาย หรือนำไปหาประโยชน์ ซี่งตามประมวลรัษฎากร แบ่งประเภทเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท โดยคนทำเหมืองก็คือคนทำธุรกิจ ดังนั้น เงินได้จากการประกอบธุรกิจเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40 (8) เวลาเสียภาษีก็มีหน้าที่นำรายได้ทั้งหมดตั้ง แล้วหักด้วยค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายก็คือต้นทุนทั้งหลายที่ไปซื้อคอมพิวเตอร์ สร้างอาคาร ติดแอร์ หรืออื่น ๆ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และ เมื่อเกิดกำไรก็นำไปเสียภาษี”

 2. กลุ่มคนเทรดเหรียญ

ไม่ว่าจะได้เหรียญมาด้วยวิธีใดก็ตาม รวมถึงกรณีที่ได้เหรียญมาฟรี ซึ่งตอนที่รับเหรียญเข้ามา ก็เป็นการได้รับทรัพย์สินเข้ามา แม้จะไม่เสียค่าตอบแทน แต่อาจตีราคาเป็นเงินได้ ก็ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเมื่อตีมูลค่าทรัพย์สินเป็นเงิน จะตีราคาตามมาตรา 9 ทวิ กำหนดว่า กรณีมีความจำเป็นต้องตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน ให้ตีราคา หรือค่าอันพึงมี ณ วันที่ได้รับเข้ามา เช่น วันที่รับมา 10 บาท ราคาเหรียญนั้นก็มีมูลค่า 10 บาท ซึ่งถือว่าเงินนั้น เป็นเงินได้พึงประเมิน

หากมีการนำเหรียญนั้นไปฝากไว้ หรือให้ผู้อื่นใช้หาประโยชน์ โดยมีสัญญาที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญกลับมา ส่วนนี้ก็ถือเป็นรายได้ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร ได้เพิ่มเติมเงินได้ มาตรา 40 (4), (ซ), (ฌ)  โดย (4) ผู้ถือโทเคนดิจิทัลแล้วได้รับผลประโยชน์จากการถือครอง และ (ฌ) ผู้ที่ถือโทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี่ มีการจำหน่ายจ่ายโอนออกไป เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือว่าเป็นเงินได้

คำถามยอดฮิต

  • กรณีซื้อเหรียญมาเก็งกำไร เมื่อราคาขึ้นแล้วขายออกไป ตามกฎหมายระบุว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี่ ให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ไม่ใช่มาตรา 40 (8) เหมือนกับในอดีตแล้ว

 “ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการโอน เมื่อตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ส่วนนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เช่น ซื้อเหรียญมา 1 เหรียญ ราคา 10 บาท แล้วขายเหรียญออกไป 12 บาท โดยได้กำไร 2 บาท ซึ่งมีเงินได้พึงประเมิน 2 บาท ตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นเงินได้เฉพาะส่วน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน” 

  • กรณีนำคริปโทเคอร์เรนซีไปซื้อสินค้า ตอนนำเหรียญไปจ่ายค่าซื้อสินค้า เจ้าของเหรียญมีภาระภาษีหรือไม่นั้น นายมงคล กล่าวว่า สิ่งที่จ่ายออกไปเป็นทรัพย์สิน เมื่อนำไปให้เจ้าของสินค้า เป็นการจำหน่ายจ่ายโอนคริปโทเคอร์เรนซี่ ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่ ต้องคำนวณตามผลว่าได้เกินกว่าที่ลงทุนหรือไม่ เช่น นำเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี่ไปซื้อเรือเฟอร์รี่ โดยซื้อเหรียญมา 100 บาท แต่สามารถแลกซื้อเรือได้ 10 ล้านบาท ตอนโอนไปให้ถือว่าเกิด Capital Gain ก็ต้องเอาส่วนนั้นมาเสียภาษี
  • ขาดทุน จากคริปโต ต้องเสียภาษีหรือไม่ การยื่นเงินได้จะนับเฉพาะกำไรจากการซื้อขาย โดยสาเหตุที่ไม่ได้ให้นำเงินที่ขาดทุนมาใช้รวมในการยื่นภาษีเงินนั้น เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้มีเงินได้ ถือว่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นกำไรจากการซื้อขายคริปโตจึงถือเป็นเงินได้ แต่รายได้ส่วนนี้จะถูกนับก็ต่อเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าบัญชีแล้ว ซึ่งหากเงินยังอยู่บนแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขาย จะยังไม่ถือว่าเป็นรายได้
Golden bitcoin isolated on white background

หลักการคำนวณภาษีเงินได้ คริปโทฯ

สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้ในส่วนของคริปโทฯ จะคำนวณเหมือนภาษีอื่น เช่น หากมีกำไรจากการขายคริปโทฯ ทั้งปี 200,000 บาท โดยไม่ได้มีรายได้อื่น ถ้ายื่นแบบเสียภาษี ก็ไม่มีภาษีต้องจ่ายเลย โดยหลักการเวลาคำนวณภาษีเอาเงินได้พึงประเมินตั้ง แล้วเอาผลตอบแทนจากการเทรดคริปโทฯ ที่เป็นกำไรจากการขาย หรือ 200,000 บาทตั้ง  หักด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็น 0 และสามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้ถึง 60,000 บาท ก็เหลือ 140,000 บาท และหากเหลือเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นจากจ่ายภาษี ซึ่งก็เท่ากับว่าฐานที่จะไปคิดภาษีไม่มีแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่ได้เสียภาษี

การจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย  ก็เป็นไปตามกฎหมาย โดยนอกจากแบ่งประเภทเงินได้ จากเดิมเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) และกำหนดให้คนที่จ่ายเงินค่าซื้อคริปโทเคอร์เรนซี่มีหน้าที่ต้องหักภาษี อัตรา 15%  ซึ่งหลักการการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แก่ 1.คนรับเงินมีหน้าที่เสียภาษี 2.ต้องมีเงินได้พึงประเมิน (หรือกำไร) ซึ่งเงินได้พึงประเมินมาจากการจำหน่ายจ่ายโอนคริปโทเคอร์เรนซี่ คือ เงินส่วนที่ตีราคาได้เกินกว่าทุน หรือ Capital Gain นั่นเอง

“ยกตัวอย่างเช่น เราจ่าย 100 บาท ได้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซี่ 1 เหรียญ หากไม่มี Capital Gain หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายก็ไม่เกิด แต่หากจ่ายให้ 100 บาท มี Capital Gain 20 บาท เราก็มีหน้าที่ในการหักอัตราภาษี 15% จาก 20 บาท ซึ่งคนรับเงินจะต้องเป็นผู้แจ้งว่าซื้อมาเท่าไหร่ เพราะหากไม่แจ้งต้นทุน คนจ่ายจะสันนิษฐานว่าไม่มีต้นทุน เขาอาจจะหัก 15% จากจำนวน 100 บาท”