เมื่อวันที่ 8 ม.ค.​ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า  วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ Design Creativity (ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ) ร่วมกัน ในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 : The 14th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2022 ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 51 ทีม จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศมองโกเลีย และสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในปีนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงจัดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งหัวข้อที่กำหนดในการคัดเลือกครั้งนี้ คือ “มีความฝัน สู่อนาคต ด้วยความฝัน เพื่ออนาคต” (Having Dreams, to the Future. With Dreams, For Future) และมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ และสื่อถึงงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน​ ซึ่งมีคำขวัญว่า ร่วมกันเพื่ออนาคต แสดงให้เห็นจุดยืนที่เข้มแข็งของมวลมนุษยชาติเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก (Together for a Shared Future, showing the strong stance of mankind in the face of plight)

เลขาธิการ​ กอศ.กล่าวต่อไปว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ส่งประกวด ภายใต้ชื่อผลงาน “นางฟ้าของฉัน” ผลงานของ นางสาวนริศรา  พริกนุ่น นางสาวชนากานต์ ใจงาม และนายพัชรพล สารภี นักศึกษา​ ปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมีนายพฤติพงษ์ วงศ์วรรณา เป็นครูผู้ควบคุม มีแนวคิดมาจากสถานการณ์ ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดหนักตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ไวรัสชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกประเทศ ทั่วโลก เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของหลายๆ​ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่กระจายออกไป จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มองเห็นแสงสว่างจากหัวใจของผู้คนในความเสียสละ “บุคลากรทางการแพทย์” ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการต่อสู้ แข่งขันกับโรคร้ายให้ทุกคนบนโลกปลอดภัย เสมือนกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่หากจะเป็นการต่อสู้แข่งขันระหว่างมนุษยชาติ กับ เชื้อโรคร้าย​ โดยผลงานประติมากรรมนางฟ้า เปรียบเป็นตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน เป็นนางฟ้าในดวงใจของคนทั้งโลก กำลังประคองน้ำดื่มให้กับเหล่าหงส์ที่ได้รับบาดเจ็บเปรียบได้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และเราจะก้าวผ่านสิ่งร้ายๆ ไปด้วยกันเพื่อความฝันสู่อนาคตที่ทุกคนจะกลับมาปกติสุขด้วยกันอีกครั้ง

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ส่งประกวด ภายใต้ชื่อผลงาน “The Hero หัวใจสิงห์ผู้ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา” ผลงานของ นายธนพล ภูทองเงิน นายพรรณภัทร สมพงษ์  และนายพรรษา สายยาใจ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ​ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมี นายวสัตน์ เมฆฉาย เป็นครูผู้ควบคุม ได้รับแรงบันดาลใจ ผ่านภาพความสำเร็จของนักกีฬาพิการในการแข่งวีลแชร์ของไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมหกรรมกีฬาโลก พาราลิมปิกเกมส์ 2020 เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความฝันและความพยายามฝ่าฟันเอาชนะความยากลำบากจากข้อจำกัดในร่างกาย ปลดปล่อยพลังชีวิตเพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจตนเอง แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งให้ปรากฏต่อมวลมนุษยชาติ ให้มีกำลังใจและมองเห็นความฝันในอนาคตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสร้างให้เป็นจริงได้ ลูกล้อวีลแชร์ที่ถูกปั่นด้วยความเร็วทะยานไปข้างหน้าเหมือนจะโบยบินได้ ดั่งนกพิราบขาวได้ประกาศเสรีภาพแห่งชีวิตให้ประจักษ์ไปทั่ว พร้อมกับเชิญชวนเพื่อนมนุษย์ร่วมกันนำอนาคตที่สดใสมาสู่โลกอีกวาระหนึ่ง รูปมือที่โอบอุ้มคือสัญลักษณ์ของความร่วมมือกันของมนุษยชาติที่จะเอาชนะความยากลำบาก จังหวะของเส้น และรูปทรงที่ดูเคลื่อนไหวพุ่งทะยานไปสู่จุดหมายเดียวข้างหน้า แสดงถึงพลัง ความเร็ว และความอิสระ มุ่งสู่ปลายทางที่อยู่เบื้องบน เพื่อสื่อให้เห็นถึงแนวคิดว่า ไม่มีใครกำหนดชีวิตที่เกิดมาในอดีตของตนเองได้ แต่การรู้จักตนเองและการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและคาดหวังเอาไว้คือการสร้างชีวิต สู่อนาคต ที่เป็นจริงได้

นอกจากนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภายใต้ผลงานชื่อ “ก้าวฝ่าวิกฤติสู่ความฝันแห่งอนาคต” ผลงานของนายอำพล ธรรมทอง นายสุภาพ ชารีเครือ และนายอนันต์ แสงสว่าง นักศึกษาปวช. 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมีนายสระชาติ พละศักดิ์ เป็นครูผู้ควบคุม ซึ่งมีแนวคิดจากที่ว่า มนุษยชาติทั้งหลายล้วนเกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่บนกฎเกณฑ์ของกรอบกติกาที่กำหนดขึ้นในแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน มีอุปสรรคไว้ฟันฝ่าก้าวข้ามไปสู่อนาคต โดยมีความฝัน ความหวัง เป็นเครื่องนำทาง เพื่อไปสู่อนาคต อันเป็นเป้าหมายสำเร็จสูงสุด ของมวลหมู่มนุษยชาติทุกคน ที่ปรารถนา อยากให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนสังคม โลก ให้การยอมรับยกย่องเชิดชู  ถ้าเปรียบเทียบการใช้ชีวิตดั่งเช่นการแข่งขันกีฬา เป้าหมายคือรางวัลที่จัดไว้ตามลำดับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งมีขีดจำกัดไม่เท่ากัน กว่าจะมาถึงจุดเป้าหมายของรางวัลที่คาดหวัง นักกีฬาทุกคนต้องมีระเบียบวินัยยึดถือกติกาข้อตกลงที่สากลกำหนด จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้มีชัยชนะที่ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง จากประเด็นดังกล่าวทีมผู้สร้างได้ใช้รูปทรงของสถาปัตยกรรม และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ นำมาจัดองค์ประกอบศิลป์ ผสมผสานให้ลงตัว เพื่อสื่อความหมายดังนี้  สถาปัตยกรรมสนามกีฬารังนก สื่อถึง สัญลักษณ์แห่งความหวังของมนุษยชาติ รูปสัญลักษณ์ผลึกน้ำแข็ง สื่อถึง ความสุจริตใสบริสุทธิ์ดุจนำแข็งและหิมะ รูปทรงคบเพลิงโอลิมปิก 2022 สื่อถึง คบเพลิงศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถูกจุดโดยแสงอาทิตย์ เป็นจุดกำเนิดการก่อเกิดความเจริญงอกงาม โชติช่วงชัชวาลแห่งอนาคต สัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ที่ชื่อว่า “ตงเมิ้ง” หรือความฝันแห่งฤดูหนาว รูปทรงคล้ายคนเล่นสกี สื่อถึงความรื่นรมย์และเป็นสัญลักษณ์จุดนัดพบของนักกีฬาตามล่าฝันแห่งฤดูหนาวสัญลักษณ์สากลของกีฬาโอลิมปิกรูปทรง 5 ห่วง สื่อถึงการรวมตัวกันของคนจาก 5 ทวีป ยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ เอเชีย และออสเตรเลีย รูปทรงกำแพงเมืองจีน สื่อถึงความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่ท้าทายรูปทรงธงชัย เรียงลำดับทับซ้อน 3 ลำดับ สื่อถึง เป้าหมายแห่งความสำเร็จหรือชัยชนะ