เมื่อวันที่ 10 ม.ค.​ คณะก้าวหน้า – Progressive Movement ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดราม่าวัคซีน VIP​ และข้อโจมตีต่อแกนนำคณะก้าวหน้าว่า รัฐปล่อยข้อมูลส่วนบุคคลหวังดิสเครดิต แม้ธนาธรได้วัคซีนพร้อมคนทั่วไป

หากเราย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 รัฐบาลกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันดีเดย์ฉีดวัคซีนแห่งชาติ มีการเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์หลายช่องทางล่วงหน้า โดยเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับชาวไทยทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปในวันที่ 7 มิถุนายน โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่บอกว่าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แย่งวัคซีนคนแก่ จึงไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ธนาธรได้เดินทางเข้ารับวัคซีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 หากดูจากสถิติที่รวบรวมโดยกระทรวงอุดมศึก วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม​ (อว.) ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ระบุว่า ในจำนวนประชาชนทั้งหมดที่ได้รับวัคซีน 50% เป็นประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง ตามด้วยผู้สูงอายุ 20% และคนกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง 7% ส่วนสถิติรายจังหวัด ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 45% ขณะที่สมุทรปราการฉีดไป 24% เพราะฉะนั้น คนที่ฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางไปรับวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล จะเรียกว่าเป็นวีไอพี หรือ แซงคิวใครไม่ได้

ประการถัดมา คือเรื่องที่ถูกนำไปทำให้เข้าใจผิดมากที่สุด ว่าธนาธรวิจารณ์วัคซีนแอสตรา ทำไมถึงไปฉีดแอสตรา เราขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าธนาธรเป็นคนแรกที่บอกว่า “วัคซีนคือทางออกเดียวของวิกฤติโควิด ประชาชนต้องได้วัคซีนเร็วที่สุด และคุณภาพดีที่สุด” ไม่เคยมีสักคำเดียวที่บอกว่า “วัคซีนไม่ดี” หรือ “ไม่ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน” การที่ธนาธรออกมาทักท้วงการบริหารวัคซีนของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าการแทงม้าตัวเดียว เสี่ยงกับแอสตราเซเนกา​ (ที่ผลิตในประเทศเป็นครั้งแรก)​ ยี่ห้อเดียว ทำให้ประชาชนเสี่ยงเกินไป ได้วัคซีนช้าเกินไป​ (และวัคซีนก็มาน้อยและช้ากว่าที่รัฐบาลประกาศไว้จริงๆ ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ จนถึงปัจจจุบัน)

นอกจากนี้ จะเห็นว่าธนาธรและ ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ก็ช่วยสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนมาโดยตลอด เมื่อมีการติดต่อมาจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่นรัฐสภา เพื่อนผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลก็ไม่รีรอ เดินหน้าไปฉีดตามที่หน่วยงานกำหนด

สิ่งสำคัญที่สังคมต้องถามกลับดังๆ ก็คือการปล่อยข้อมูลในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของธนาธร รวมถึงเพื่อน ส.ส. พรรคก้าวไกล เพื่อหวังผลทางการเมือง รวมถึงก่อนหน้านี้ที่มีการเปิดเผยข้อมูลจากตรวจคนเข้าเมือง​ (ตม.) ถึงการเดินทางเข้าออกประเทศของธนาธรและปิยบุตร แสงกนกกุล การเปิดข้อมูลเหล่านี้ทำอย่างเป็นระบบผ่านขบวนการไอโอและสื่อมวลชนบางกลุ่ม ซึ่งข้อมูลจะออกมาไม่ได้เลยหากรัฐไม่ใช่ผู้ปล่อย หมายความว่าข้อมูลส่วนตัวของคนไทยในมือรัฐไม่ปลอดภัยเลย วันใดรัฐมองว่าคนไหนเป็นศัตรู ก็พร้อมเอาข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้น

เรื่องนี้นอกจากจะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ยังอยากให้ประชาชนช่วยกันถามกลับไปยังรัฐบาลว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้านเช่นนี้ ควรหรือที่รัฐบาลจะหมกมุ่นใช้ทรัพยากรรัฐไปกับการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง และขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษในการเสพข่าวจากสื่อกลุ่มนี้ ที่บิดเบือนใส่ร้ายคนของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลซ้ำๆ ซากๆ มาโดยตลอด