เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “พัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กับ จ.กาญจนบุรี จ.แพร่ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “นำร่องเพื่อพัฒนากิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองโดยใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจ” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับ จ.ขอนแก่น จ.กระบี่ โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นางพงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอบคุณ อบก. ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกในจังหวัด และสร้างสรรค์โปรแกรม/แพลตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนในสังคม ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อช่วยกันเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลท้องถิ่น ดูแลจังหวัดของตนเองให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ให้เป็นจังหวัดที่ทำบุญกับโลกใบนี้ของเรา ซึ่งเราตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 65 มันจะไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าวันนี้เราไม่ทำทันที ดังนั้นไม่เพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เราต้องเสริมกำลังด้วยการทำพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ชาวมหาดไทย ร่วมกับ อบก. ช่วยกันคิดว่าแท้ที่จริง ทุกอณูชีวิต ทุกลมหายใจของมนุษย์ จะมีสิ่งใดที่ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บ้าง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในแง่ของเศรษฐกิจฐานราก ก็มีส่วนช่วยในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้ เช่น การณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ผ้าทอ ของผู้ประกอบการชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ก็มีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ทำให้เรามีเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเงินไม่รั่วไหลไปต่างชาติ เพราะในการผลิต เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เรื่องผ้าไทย ภูมิปัญญาอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระองค์ไม่สวมใส่ชุดที่ย้อมด้วยสีเคมี ทรงโปรดสีธรรมชาติ ส่งผลทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการเกิดทิฐิมานะในการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย อันมีนัยสำคัญครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการลดปล่อยก๊าซเรือนจกสู่อากาศ เพราะเราไม่ต้องนั่งรถไปซื้อผัก ผลไม้ ดังนั้น การลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกจึงเกี่ยวข้องกับทุกลมหายใจ ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

“ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศชาติที่มีความรักและความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาโลกใบเดียวของเราให้อยู่นานๆ อยู่คู่กับลูกหลาน ที่เราทุกคนไม่อยากให้สูญสลายหมดสิ้นไปจากโลก ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ มันอยู่ในน้ำมือพวกเราทุกคน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.