เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 2/2564 หมายเลขเลขแดงที่ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุวิทย์ ศิลาทอง อดีต ผอ.กองกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร, น.ส.สุทิพย์ ทิพย์สุวรรณ รอง ผอ.สำนักงบประมาณ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร, พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนสิริ รอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ 7 เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ฐานผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

คดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.63 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีอำนาจหน้าที่บริหารโครงการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แต่การที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นำร่าง A.O.U. ให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ พิจารณาก่อนลงนามใน A.O.U. ที่มีมูลค่าสูงถึง 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาทเพียง 1 วัน จึงเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่มีราคาสูงมิให้จำเลยทั้งสี่ล่วงรู้ เพื่อให้การพิจารณาร่าง A.O.U. ผ่านไปได้โดยเร็ว และร่าง A.O.U. ระบุให้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทำให้จำเลยทั้งสี่เข้าใจว่าเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ การรับทราบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง A.O.U. จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่เข้าใจว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องแล้ว

พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่าที่ทำได้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้ว ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เห็นว่า เมื่อ A.O.U. เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามมติของคณะกรรมการว่าด้วยการ

พัสดุของกรุงเทพมหานคร และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของกระทรวงกลาโหม ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครมีการเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อทำความตกลงกับสาธารณรัฐออสเตรีย ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งจำเลยทั้งสี่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการสลับขั้นตอนผิดไปจากการดำเนินการตามปกติ และยังเป็นการจำกัดอำนาจของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษให้ต้องจัดซื้อตามราคาที่กำหนดมาแล้ว

อีกทั้งการแต่งตั้งจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวก่อนจะมีการลงนามซื้อขายเพียง 7 วัน เป็นการจำกัดให้จำเลยทั้งสี่มีเวลาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้น้อยที่สุด แม้ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อฯ ก็มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายมาโดยตลอด การแต่งตั้งจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นเพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ประกอบกับคดีนี้เป็นการจัดซื้อจากต่างประเทศที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทนในราคาที่เท่ากัน จะอนุมานว่าจำเลยทั้งสี่ทราบข้อเท็จจริงว่ารถและเรือดับเพลิงมีราคาสูงอยู่ก่อนแล้วย่อมเป็นการรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสี่

พฤติการณ์แห่งคดีมีข้อจํากัดทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและเป็นไปได้ว่าจําเลยทั้งสี่เป็นเพียงกลไกที่ถูกใช้เป็นทางผ่านเพื่อนําไปสู่การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ตามที่มีการดําเนินการโดยส่วนอื่นๆ มาแต่ต้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในราคาสูงนั้นเกิดจากการที่จําเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบหรือสืบราคาเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ก็ไม่ปรากฏผลประโยชน์อย่างอื่นจากการกระทําดังกล่าวที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยทั้งสี่ว่าต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบแทน

พยานหลักฐานตามทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จําเลยทั้งสี่มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออํานวยแก่บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์จํากัด ประเทศออสเตรีย ให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ทั้งคดีอาญาศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจะถือเอาข้อเท็จจริง ในคดีก่อนมาผูกพันเทียบเคียงสําหรับการกระทําที่แตกต่างกัน โดยที่จําเลยทั้งสี่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วยไม่ได้ คําพิพากษาที่โจทก์อ้างไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจําเลยทั้งสี่มีเจตนาในการกระทําความผิดร่วมกับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจําเลยทั้งสี่มานั้น องค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นศาลจึงพิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ไม่รอลงอาญา โดยทั้ง 2 คนมีความผิดต่อ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ในกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานคร โดยวันฟังคำพิพากษานายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงให้ออกหมายจับจำเลยทั้ง 2 คนไว้ ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่พบการกระทำความผิด