จากกรณีที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า วันที่ 1 เม.ย.65 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวคนละ 300 บาท ซึ่งเงินที่เรียกเก็บดังกล่าว เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” โดยเงินที่เก็บได้จะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาลได้รับสูงสุด 500,000 บาท เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินในกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบกนั้น

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายบุญอนันต์ พัฒนสิน นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เปิดเผยเกี่ยวกับแนวคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียม “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ว่า เรื่องนี้ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว แต่น่าจะจัดทำในอนาคตเพราะการดำเนินการลักษณะนี้ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และในช่วงเวลาที่ประเทศมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนน้อย กรณีนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เลือกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากการเดินทางเข้ามายังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของมาตรการการแพร่ระบาด และค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีอัตราสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบอิสระ หรือบางประเทศจัดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้นักท่องเที่ยวฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย ผิดกับประเทศไทยที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในทุกรายการ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางในประเทศไทยมากขึ้น

จนมาวันนี้รัฐบาลจะมีการประกาศจะเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวอีกรายละ 300 บาท แม้รัฐบาลจะมองว่าเกิดความเหมาะสมกับการหารายได้เข้าสู่ประเทศ แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้ ซึ่งอะไรที่จะเป็นการเพิ่มรายจ่ายกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ มองว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลจะมีการประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา ทั้งนี้ภาคเอกชนไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ควรจะรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจึงค่อยจัดทำ

ที่สำคัญหากจะมีการเรียกเก็บเงิน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” แล้วก็ควรจะมีการบริการจัดการงบประมาณที่ได้มาอย่างชัดเจนด้วย ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะเป็นผู้ดูแล และใช้จ่ายงบประมาณก้อนนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้นช่วงเวลานี้รัฐควรจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการ หาแนวทางส่งเสริมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเสียก่อน ซึ่งจะเป็นแนวทางใดก็ได้ที่จะเป็นการจูงใจ ทั้งนี้หากสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติและมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศดังเดิม รัฐบาลจะมีการเรียกเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” อย่างใดก็สามารถทำได้

ด้วยประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงพอที่จะเลือกนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศได้แล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถเลือกนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาได้ และการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินก็ไม่ได้การันตีในการคัดกรองคุณภาพของนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการสร้างภาระให้กับนักท่องเที่ยวในทุกๆ กลุ่มมากกว่า.