จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง ล่าสุดวันนี้ 27 ม.ค. ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา ฐานะสถาบันการศึกษาที่ให้บริการด้านวิชาการ พร้อมให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ส่งคณาจารย์ นักวิจัย ลงพื้นที่สำรวจและพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ทั้งนี้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา เคยลงพื้นที่และร่วมแก้ปัญหากรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณเกาะเสม็ด จ.ระยอง มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2556

ทร.ส่งเฮลิคอปเตอร์ปากดำน้ำ ฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมันดิบอ่าวมาบตาพุด

แต่อย่างไรเพื่อให้คลายข้อสงสัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่จะเกิดกับน้ำทะเล และสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้ส่งทีมคณาจารย์ และนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมทั้งคณาจารย์จากภาควิชาวาริชศาสตร์ ลงพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อสำรวจสภาพน้ำทะเลบริเวณจุดเกิดเหตุ รวมทั้งกระแสลมที่จะพัดพาคราบน้ำมันว่าสามารถกระจายไปได้ถึงบริเวณใดบ้าง รวมทั้งตรวจสอบผลกระทบจากกระแสน้ำว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการประมง และภาคการท่องเที่ยวหรือไม่อย่างไร

“จากข้อมูลเบื้องต้นที่ SPRC ได้นำสารเคมีเข้าไปขจัดคราบน้ำมันโดยหลักวิชาการแล้วจะทำให้คราบน้ำมันผืนใหญ่ที่อยู่ในทะเลแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน ในการย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้เราลงพื้นที่เก็บคราบน้ำมันที่ล่องลอยอยู่ในทะเลและน้ำตามแหล่งต่างๆ ที่คาดเดาได้ว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งคาดว่าในวันพรุ่งนี้น่าจะรู้ผล”

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะมหาวิทยาลัยของภาคตะวันออกยังได้เตรียมความพร้อมทั้งจำนวนนิสิต และบุคลากรที่จะลงพื้นที่ จ.ระยอง หากเกิดผลกระทบทางการท่องเที่ยว เนื่องจากมีภาควิชาการจัดการด้านการท่องเที่ยว ที่จะสามารถเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการสื่อสารไปยังชุมชนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวได้