เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย “ทส.เป็นหนึ่งเดียว” และ “ทส.ยกกำลัง X” ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อสั่งการของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดูแลชาวบ้านที่ถูกเสือโคร่งทำร้ายบาดเจ็บและระวังภัยเสือโคร่งให้กับชาวบ้าน พร้อมกับให้อนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ให้คงอยู่ตามวิถีในป่าธรรมชาติ

ทั้งนี้นายกมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นำกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟรีแลนด์ เดินทางไปยังหมู่บ้าน หมู่ 4 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยเข้าเยี่ยมดูอาการบาดเจ็บและมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้นายหวาน ชาวกะเหรี่ยงวัย 46 ปี ที่ถูกเสือโคร่ง 3 ตัว ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ โดยอาการบาดเจ็บของนายหวาน ดีขึ้นมาก สามารถพูดคุยตอบโต้และเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี สภาพใส่เฝือกที่แขนและมือ ที่ถูกเสือกัดและหักทั้ง 2 ข้าง ปิดพลาสเตอร์ตามร่างกายหลายแห่ง โดยเฉพาะที่บริเวณคางและลำคอ ที่ถูกเสือกัด

นายหวาน ได้เล่าถึงนาทีชีวิตว่า ขณะที่เข้าไปไล่ฝูงควาย 8 ตัว ซึ่งต้อนพามาจากหมู่บ้าน ไปปล่อยเลี้ยงในป่าห้วยปิล็อก-ห้วยสะมะท้อ โดยพาสุนัขไปด้วย ก็พบเสือโคร่ง 3 ตัว ตัวแรกใหญ่ขนาด 4 เมตร ส่วนอีก 2 ตัว มีขนาดเล็กกว่า ทันใดนั้น เสือโคร่งตัวใหญ่ได้กระโจนใส่เข้าทำร้ายตน ส่วนเสือโคร่งอีก 2 ตัว ยืนแกว่งหางคุมเชิงอยู่ ขณะเดียวกันสุนัขที่พาไปด้วย ได้เข้าสกัดสู้ล้อมหน้าล้อมหลังเสือโคร่งอีก 2 ตัว ระหว่างที่ถูกเสือโคร่งตัวใหญ่กระโจนใส่ มีดพกที่ติดตัวกระเด็นหายไป

“ตอนนั้นตนมีแต่มือเปล่า จึงยกแขนเอามือกัน แต่ก็ถูกเสือตะปบและกัดที่บริเวณมือและลำคอ ก่อนแข็งใจชกเสือที่บริเวณจมูกและตาอย่างเต็มกำลังหลายครั้ง จนข้อมือหัก เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เสือได้ชะงัก เพราะถูกตนชกที่ตาและจมูกจนมึน จึงแข็งใจรีบลุกวิ่งไปที่กอไผ่ แล้วปีนขึ้นไปจนสูง เมื่อมองจากยอดไผ่ ก็เห็นเสือโคร่งตัวใหญ่ที่ขย้ำตน ยืนแหงนหน้าแกว่งหางไปมาแยกเขี้ยวมองตน ส่วนเสือโคร่งที่เหลือได้กัดสุนัขตายไป 2 ตัว ส่วนสุนัขอีกตัวหายไป เชื่อว่าคงบาดเจ็บและวิ่งหลบหนีเข้าป่า” นายหวาน เล่าด้วยสีหน้าระทึก

นายหวาน เล่าต่องว่า นาทีชีวิตอย่างตื่นเต้น เมื่อเห็นว่าเสือยังไม่ยอมไป จึงหักไม้ไผ่ขว้างลงมาใส่เสือโคร่งหลายครั้ง ราว 10 นาที เสือโคร่งตัวใหญ่จึงเดินเข้าป่า โดยมีเสือโคร่งทั้ง 2 ตัว ที่เล็กกว่า เดินตามหายไป จากนั้นตนได้ยืนเกาะกอดต้นไผ่อยู่ราวครึ่งชั่วโมง เห็นว่าเงียบสงัดเชื่อว่าเสือคงไปไกลแล้ว จึงรีบปีนกอไผ่ลงมา แล้วรีบวิ่งไปที่ฝูงควายที่อยู่ไม่ห่าง ขึ้นหลังควายออกจากป่ากลับหมู่บ้าน ให้ญาติช่วยนำส่งรักษาที่โรงพยาบาล หลังจากตนหายดีแล้ว ก็จะทำบุญบวงสรวงให้เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง ที่ทำให้ตนมีชีวิตรอดจากคมเขี้ยวของเสือโคร่งมาได้อย่างปาฏิหาริย์

ต่อมา นายกมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นำกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟรีแลนด์ เดินทางเข้าไปในป่า เพื่อติดตั้งกล้องดักถ่ายจำนวน 20 ตัว บริเวณป่าห่างจากหมู่บ้านปิล็อกคี่ราว 2 กม. และบริเวณลำห้วยปิล็อก-ลำห้วยสะมะท้อ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ที่นายหวาน ชาวกะเหรี่ยง ได้ต่อสู้กับเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว รวมทั้ง บริเวณป่าลึกเขตรอยต่อระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในการติดตั้งกล้องดักถ่ายเสือโคร่ง ประมาณ 4-5 วัน ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้ทราบว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่บริเวณนั้นหรือไม่ พร้อมจัดชุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเฝ้าระวังเสือโคร่ง จำนวน 7 นาย โดยมีการลาดตระเวนในป่าทุกวัน เพื่อคอยผลักดันฝูงเสือโคร่ง และระวังภัยเสือโคร่ง ให้กับชาวบ้านปิล็อกคี่จนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ.