องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 11 ก.พ.ของทุกปี เป็น “วันสตรีและเด็กหญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์สากล” เพื่อส่งเสริมให้สตรีและเด็กหญิงมีความเท่าเทียม และมีส่วนร่วมในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อิสราเอล เป็นประเทศเต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อปี 2491 กล่าวคือสตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นับตั้งแต่วันแรกของการสถาปนาประเทศ รัฐสภาอิสราเอลชุดแรก ได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิในความเท่าเทียมกันของสตรีในปี 2494 เพื่อให้บุรุษและสตรีมีสถานะเท่าเทียมกันในประเทศที่เพิ่งตั้งใหม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าในหลายประเทศ ความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานยังคงเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งบทบาทสำคัญส่วนใหญ่เป็นของผู้ชาย

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นางออร์นา ซากิฟ ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2543  อิสราเอลก่อตั้งสภาเพื่อความก้าวหน้าของสตรีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามปีต่อมา รายงานฉบับแรกของสภานี้ระบุว่ามีสตรีเพียงร้อยละ 25 ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมดในสาขาวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 24 ของนักวิชาการอาวุโสในภาคการศึกษาระดับสูง และมีเพียงร้อยละ 29 ของบรรดาผู้ทำงานในสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หลังจากได้รับรายงานฉบับนี้ รัฐบาลอิสราเอลได้ทุ่มเททรัพยากรดำเนินโครงการอย่างจริงจัง เพื่อให้สตรีมีพัฒนาการในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2553 นักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นสตรี แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าเช่นนี้ แต่จำนวนสตรีที่เข้าเรียนในระดับสูงกลับน้อยลง ในปี 2558 ยังคงมีสตรีเพียงร้อยละ 29 ศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ และร้อยละ 39 ในมหาวิทยาลัยเอกชน

“ดิฉันมีลูกชายสองคนและลูกสาวคนเล็กหนึ่งคน ดูจะเป็นเรื่องปกติที่ลูกชายทั้งสองเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย ในขณะที่เพื่อนๆ ของลูกสาวส่วนมากจะเลือกสายศิลป์ และเลี่ยงสายวิทยาศาสตร์ อย่างคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์และเคมี ในชั้นคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมัธยมของลูกสาวมีเพื่อนเพียงสองสามคนที่เรียนคอมพิวเตอร์ระดับสูง และมีเพียงคนเดียวที่เลือกเรียนเคมีและคณิตศาสตร์ระดับสูง ดิฉันถามตัวเองว่า เป็นไปได้อย่างไร ทำไมเด็กผู้หญิงจึงเลือกที่จะเลี่ยงการเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าพวกเธอฉลาดน้อยกว่า แต่อาจเป็นความรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่สังคมคาดหวังจากพวกเด็กผู้หญิง แม้ว่านี่ จะเป็น พ.ศ. 2565 แล้วก็ตาม” นางซากิฟกล่าว

ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอล เผยว่า หลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้พัฒนาโครงการต่างๆ จำนวนมากในภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาของเด็กหญิงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการเหล่านี้ดำเนินการผ่านมหาวิทยาลัย โรงเรียน และภาคเอกชน หลายหลักสูตรสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อาทิ โครงการ “She Space” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรี

ศาสตราจารย์ อะดา อี โยนาธ

อิสราเอลได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็น “Startup Nation” รัฐบาลอิสราเอลจึงมีเป้าหมายที่จะรวมสตรีเพื่อมุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์และวงการไฮเทค โครงการหนึ่งคือ “She codes” ที่ตั้งขึ้นในปี 2556 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้หญิงในแวดวงเทคโนโลยีโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์สตรีในอิสราเอลให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเวลา 10 ปี การดำเนินการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เป็นความโชคดีที่สตรีอิสราเอลมีต้นแบบการส่งเสริมในสาขานี้อย่าง ศาสตราจารย์ อะดา อี โยนาธ (Prof. Ada E. Yonath) สตรีอิสราเอลคนแรกและสตรีคนแรกจากตะวันออกกลางที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2552 ทั้งยังเป็นสตรีคนแรกในรอบ 45 ปีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีอีกด้วย นางซากิฟกล่าว

เป็นที่น่ายินดีว่าศาสตราจารย์โยนาธเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน นักศึกษา และนักวิชาการชาวไทย แม้ว่าอิสราเอลภาคภูมิใจกับความก้าวหน้าของประเทศ แต่เรายังคงมุ่งพัฒนาและส่งเสริมสิทธิสตรีและความเท่าเทียมในด้านอื่นๆ กล่าวได้ว่านี่เป็นทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในภาคเทคโนโลยี อันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าและประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน นางซากิฟเผย.