เมื่อวันที่ 24 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการพัฒนาหลักสูตร ผู้เข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จำนวน 58 คน และรอง ศธจ. จำนวน 14 คน ซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกปฏิบัติการเรียนรู้ในสภาพจริงในหน่วยงานส่วนกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. พร้อมด้วยนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. และ รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ร่วมให้กำลังใจ ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

รมว.ศธ. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นองค์กรที่ใหญ่ เต็มไปด้วยความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคาดหวังทางการศึกษาและการพัฒนาคน ทุกท่านในที่นี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนงานของ ศธ. ให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมในฐานะเป็นตัวแทนกระทรวงในระดับภูมิภาค อีกทั้งตลอดระยะเวลาในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เป็นช่วงหนักหนาของ ศธ. โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่ง สป.ศธ. เป็นหัวแรงสำคัญในด้านการดำเนินงานต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก การจ่ายเงินเยียวยา การช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดก็เป็นหน่วยงานหลักในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมการบูรณาการการทำงานกับส่วนกลางได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ แม้จะมีบางปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ในเรื่องเชิงโครงสร้าง แต่เชื่อมั่นว่าทุกสังกัดใน ศธ. จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และถือเป็นนโยบายหลักของตนที่ได้เข้ามาทำงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพยายามบูรณาการทุกหน่วยงานหลักของ ศธ. ให้ทำงานร่วมใจกันเป็น ONE TEAM สำหรับเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ เช่น เด็กตกหล่นจากระบบการศึกษากว่าแสนคน ที่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งนอกจากจะใช้แอพพลิเคชั่น “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และเก็บเป็นฐานข้อมูลสภาพปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ต้องทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในเครือข่าย หาเจ้าภาพการทำงานที่ชัดเจน เพื่อติดตาม ช่วยเหลือ และสนับสนุน ให้เด็กกลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เป็นโครงการสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส 5,000 คน ทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงาน “อาชีวะอยู่ประจำ” มีหอพักและอาหารฟรี 3 มื้อ ตลอดหลักสูตร ปวช. “เรียนฟรี” มีทุนการศึกษาระดับชั้น ปวช. ต่อเนื่อง 3 ปี และ “มีอาชีพ” เรียนจบ มีงานทำ ซึ่งมีสถานศึกษารองรับกว่า 80 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้เด็กเหล่านั้นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่เน้นย้ำเสมอคือเรื่อง “ความปลอดภัยในสถานศึกษา” ถือเป็นเรื่องยากในการสร้างความปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม ยังมีมิติอีกมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทความปลอดภัยต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยบุคลากรและกลไกความร่วมมือในการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้เรียน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญไม่แพ้คุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ โครงการ “โรงเรียนคุณภาพ” เป็นหัวใจสำคัญ ที่ได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการแล้ว ซึ่งนอกจากมุ่งเน้นพัฒนาด้านกายภาพของสถานศึกษาแล้ว จะต้องมีการส่งเสริมขวัญกำลังใจในเรื่องอื่นๆ สำหรับครูและบุคลากรเพิ่มเติมด้วย เช่น บ้านพักครู ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่หลายแห่ง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี เป็นตัวอย่างของโรงเรียนมัธยมคุณภาพประจำจังหวัด มีการออกแบบหลักสูตรที่มีความหลากหลาย เพื่อรองรับศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนที่แตกต่างกัน

“ดิฉันจะลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและติดตามโครงการสำคัญ และจะสื่อสารความก้าวหน้าของการทำงานในระดับพื้นที่ให้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ศธ. อย่างต่อเนื่อง ขอบคุณสำหรับความร่วมมือร่วมใจการทำงาน MOE ONE TEAM และขอเป็นกำลังใจในการทำงาน” รมว.ศธ.กล่าว