สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ว่านายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวถึง “สถานะ” ของคาบสมุทรไครเมีย ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของยูเครน ระหว่างการเจรจาครั้งแรก ใกล้กับแม่น้ำปรือเปียต ในเขตชายแดนระหว่างเบลารุสกับยูเครน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่า “เป็นเรื่องที่เจรจาไม่ได้” เนื่องจาก “ไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย”


เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ และความกังวลของหลายฝ่าย ว่าวิกฤติการณ์สู้รบในยูเครน จากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา จะลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สามหรือไม่ ลาฟรอฟกล่าวว่า หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นเรื่องเลวร้ายและสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากจะมีอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง


ด้วยเหตุนี้ “จึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง” หากยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เนื่องจากรัฐบาลเคียฟและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในยูเครน ยังคงมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์สมัยสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน การให้ประเทศซึ่งเป็นอดีตสมาชิกของสหภาพโซเวียตเป็นที่ตั้งของฐานทัพตะวันตก เป็นเรื่องที่รัฐบาลมอสโกไม่สามารถยอมรับได้


ทั้งนี้ ยูเครน “เคยมี” หัวรบนิวเคลียร์ 1,900 ลูก ขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) 176 ลูก และระเบิดนำวิถีทางยุทธศาสตร์อีก 44 ลูก แต่ภายใต้ข้อตกลงหลายฉบับ ระหว่างปี 2537-2539 ยูเครนมอบอาวุธทั้งหมดเพื่อให้รัสเซียนำไปทำลาย หลังจากนั้น ยูเครนได้รับความสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากทั้งรัสเซียและสหรัฐ พร้อมทั้งการการันตี “อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” ของยูเครน “จะไม่ถูกล่วงละเมิด”.

เครดิตภาพ : REUTERS