เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเฟซบุ๊ก
BLACKPINK Thailand โพสต์ภาพศิลปิน ลิซ่า Blackpink หรือ น.ส.ลลิษา มโนบาล ที่ถ่ายคู่กับขวดวิสกี้ยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นภาพจากการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แก่แบรนด์ เนื่องจากในประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอล
กอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียด เป็นเรื่องของระเบียบ กฎกระทรวงที่ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย

ขณะที่ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “น้องลิซา โพสต์เหล้า ผิด ก.ม.หรือไม่ ข้อกฎหมาย ความผิดมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ (วรรค 1 ตอนที่ 1) ห้ามทุกคนทำการโฆษณา (ทำให้เห็น ได้ยิน รู้ ทราบ) และ +เจตนาพิเศษ มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้า (วรรค 1 ตอน 2) ห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมาย อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม

ข้อยกเว้นกฎหมายประการแรก ให้ผู้ผลิตทุกประเภท ทำการสื่อสารได้ ประเด็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่โชว์ สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ แต่โชว์โลโก้เครื่องดื่มและโล้โก้บริษัทได้ ส่วนข้อยกเว้นกฎหมาย ประการที่สอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริง คือน้องลิซ่ารับเป็นทูตทางสินค้าและโพสสื่อสารโฆษณาการตลาดผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ จึงเข้าองค์ประกอบข้อยกเว้นกฎหมายมาตรา 32 วรรค 3 ที่สามารถกระทำได้ เพราะอยู่นอกเขตราชอาณาจักรไทย แต่ถ้ามีใคร (ผู้ใด) นำสื่อสารดังกล่าวมา สื่อสารในประเทศ หรือโพสต์ หรือแชร์ในประเทศ ก็จะมีความผิด ตาม มาตรา 32 วรรค 1 (ซึ่งจะพิจารณาจาก ความมุ่งหวังพิเศษว่า มุ่งประโยชน์ทางการค้า)

ฉะนั้น กรณีนี้นายทุนเหล้า เขามุ่งหวังที่จะให้เกิดการแชร์ การโพสต์ภาพดังกล่าวเพื่อให้เป็นกระแสถ้ามีการกระทำโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นคนเน็ตไอดอล หรือคนดัง สำหรับคนทั่วไปก็ยึดหลัก รัก “ลิซา ไม่โพสต์ภาพขวดเหล้า” ซึ่งกรณีแบบนี้ หลายปีก่อน ดาราไทยก็เคยทำและมีความผิดแล้ว

หมายเหตุ การโพสต์ขวดเหล้าแก้วเหล้า สำหรับประชาชนคนทั่วไป ในวิถีชีวิตปกติ ที่มิได้มุ่งทางการค้า มิได้มีความผิดตาม ก.ม.มาตรานี้ ฉะนั้นมาตรา 32 มิได้เป็นการห้ามโฆษณาแบบสุดขั้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ผู้ผลิตทุกประเภท และ มิใช่ทุกพฤติกรรมจะเข้าองค์ประกอบความผิดนี้.