ที่โรงแรมวีโฮเทล กรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมการอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์เปิดการอบรม

นายหาน กล่าวว่า หลังปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1978 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้บูรณาการหลักการพื้นฐานของสังคมนิยมเข้ากับสภาพความเป็นจริงของประเทศ แสดงบทบาทพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบตลาดในการจัดสรรทรัพยากร และเริ่มต้นเส้นทางของสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีน จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและการเมืองที่มีเสถียรภาพในระยะยาว 40 ปี ทำให้จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และประชาชนมีรายได้ปานกลางถึงระดับสูงของโลก ในการประชุมสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ในปี 2017 ได้วิเคราะห์สถานะทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาของจีนอย่างแม่นยำ และเสนอว่าจีนได้เข้าสู่ยุคใหม่แล้ว โดยมุ่งเน้นรักษาและพัฒนาระบอบสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีนต่อไป คำว่า “สังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีนยุคใหม่” จึงกลายเป็นคำสำคัญที่อธิบายถึงประเทศจีนในปัจจุบันได้ดีที่สุด

จีนยุคใหม่ เศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการพัฒนาที่สดใส ในปี 2021 จีนเอาชนะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอื่นๆ บรรลุการเติบโตของ GDP ที่ 8.1% ซึ่งสูงถึง 17.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 18% ของเศรษฐกิจโลก และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 25% ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก 15 ปีติดต่อกัน คำว่าผลิตโดยประเทศจีนกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านสู่คำว่าสร้างสรรค์โดยประเทศจีน มีความก้าวหน้าที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งได้กลายเป็นตัวรักษาเสถียรภาพและพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

จีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราได้สร้างสรรค์เส้นทางใหม่ของประชาธิปไตยของประชาชนในทุกกระบวนการ การประชุม 2 สภาของจีน ได้แก่ การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับ “ประชาธิปไตยของประชาชนในทุกกระบวนการ” ปัจจุบันประเทศจีนมีความมั่นคงทางสังคม ประชาเป็นสุข และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกด้าน จากผลสำรวจความเชื่อมั่นเอเดลแมน บริษัทที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกพบว่า ความเชื่อมั่นโดยรวมต่อประเทศของชาวจีนสูงถึง 83% และความไว้วางใจในรัฐบาลสูงถึง 91% ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในโลกทั้งสองรายการ

ในศตวรรษที่ 21 สำหรับบางประเทศ ร่างกายได้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แต่จิตใจของพวกเขายังคงอยู่ในยุคสงครามเย็น เมื่อเผชิญกับปัญหาการบริหารภายในประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้น และการแบ่งขั้วทางการเมือง พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่กลับดำเนินกลยุทธ์สกัดกั้นการพัฒนาของประเทศอื่น ยุยงให้ประเทศมหาอำนาจเกิดการเผชิญหน้ากัน รังแกประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่วโลก เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้จัดการประชุมผ่านทางวิดีโอกับประธานาธิบดีไบเดน และนำเสนอหลักการสามประการของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในอนาคตอย่างชัดเจน

โดยประธานาธิบดีไบเดนตอบรับในเชิงบวกและกล่าวว่าเขาไม่แสวงหาก่อ “สงครามเย็นครั้งใหม่” ไม่แสวงหเปลี่ยนแปลงระบอบของจีน ไม่แสวงหาที่จะเสริมสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านจีน ไม่สนับสนุน “เอกราชของไต้หวัน” และไม่มีเจตนาที่จะขัดแย้งและปะทะกับจีน แต่น่าเสียดายที่ข้อความเหล่านี้ลอยอยู่กลางอากาศมาโดยตลอดและไม่ได้ลงมาสู่การปฏิบัติสักที ข้อเท็จจริงที่เราได้เห็นคือ สหรัฐฯ เล่น “เกมผลรวมเป็นศูนย์” และ “แนวคิดสงครามเย็น” ประกาศรายงานที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”ฉบับใหม่ ซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่าจีนเป็นความท้าทายอันดับแรกในภูมิภาค และยังคงโจมตีและท้าทายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของจีนอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ได้ละเว้นความพยายามใด ๆ ในการสกัดกั้นและโจมตีจีน

สหรัฐฯ อ้างว่าจะส่งเสริม “เสรีภาพและการเปิดกว้าง” ในภูมิภาค ความจริงกลับสร้าง “วงเล็ก” แบบปิดและผูกขาด เช่น AUKUS และ QUAD เป็นต้น เพื่อรักษาระบบครองความเป็นเจ้าโลกที่นำโดยสหรัฐฯ สหรัฐฯ อ้างว่าจะส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาค ความจริงกลับก่อให้เกิดความเสี่ยงอันร้ายแรงในการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ส่งเรือรบและเครื่องบินไปยังทะเลจีนใต้เพื่ออวดโอ่แสนยานุภาพของตนเอง บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค สหรัฐฯ อ้างว่าจะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ความจริงกลับเอาอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเกณฑ์แบ่งกลุ่ม ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและเป็นปรปักษ์ต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างความร่วมมือในภูมิภาคที่สร้างขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางและเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงต่อความสำเร็จของความร่วมมือในภูมิภาคและการพัฒนาในอนาคต นี่ไม่ใช่ท่าทีที่ประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบควรเป็น และไม่ใช่สิ่งที่ประเทศที่มีความน่าเชื่อถือควรทำ

โดยเมื่อวันที่ 18มี.ค. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน อีกครั้งตามนัดหมาย ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวว่าจะดำเนินการในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับสู่เส้นทางการพัฒนาที่มั่นคง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังกล่าวย้ำคำพูดของเขาว่าจะไม่แสวงหาสงครามเย็นใหม่กับจีน ความร่วมมือจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และการสู้รบจะทำร้ายทั้งสองฝ่าย นี่เป็นประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญที่สุดจากการคบกันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ ขณะนี้เรามาถึงทางแยกใหม่ เราหวังว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามฉันทามติของผู้นำทั้งสองประเทศอย่างจริงจัง เดินตามเส้นทางแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติร่วมกับจีน ร่วมกันสร้างคุณูปการต่อสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและโลก

เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคือความขัดแย้งทางด้านความมั่นคงของยุโรป ที่สะสมขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น NATO ที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ขยายขอบเขตไปทางตะวันออกอย่างต่อเนื่องและกดดันรัสเซียอย่างสุดขีด จนทำให้รัสเซียต้องตอบโต้กลับและยูเครนตกเป็นเหยื่อ ในประเด็นยูเครน จีนมีจุดยืนแน่วแน่ว่าควรเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ ควรเคารพปณิธานและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศควรได้รับการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และความพยายามทั้งหมดที่จะเป็นประโยชน์ต่อแก้ไขวิกฤตการณ์อย่างสันติควรได้รับการสนับสนุน

จีนได้เสนอแนวคิดริเริ่ม 6 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครน และเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ  NATO ก็ควรเจรจากับรัสเซียด้วยเพื่อแก้ไขปมเงื่อนที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตยูเครน จีนไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การคว่ำบาตรแบบรอบด้านและไม่เลือกปฏิบัติจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก จนก่อเกิดวิกฤตระดับโลกที่รุนแรงขึ้นมา เรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบและมีเหตุผล จีนจะยังคงแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์โดยใช้วิธีของตนเองต่อไป

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น แท้ที่จริงแล้วยุโรปมีโอกาสสร้างกลไกความมั่นคงที่สมดุล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน การที่สถานการณ์พัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นผลมาจากตรรกะและความคิดแห่งอำนาจบาตรใหญ่ เช่น “ผู้ชนะกินรวบ” และ “อำนาจคือความยุติธรรม” เป็นต้น ความวุ่นวายในยุโรปทำให้เราหวงแหนความสงบสุขและความมั่นคงของภูมิภาค ภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เราตั้งอยู่นั้นรักษาการพัฒนาโดยรวมอย่างมีเสถียรภาพมาเป็นเวลานานและได้กำหนดกรอบความมั่นคงและความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และได้กลายเป็นโอเอซิสแห่งสันติภาพและการพัฒนาของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของประชากร 2 พันล้านคนในภูมิภาคนี้

ปัจจุบันนี้สหรัฐฯ กำลังดำเนินการสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” เพื่อสร้าง NATO เวอร์ชั่นเอเชียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นจีน ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับการขยายตัวไปยังทางตะวันออกของ NATO ในยุโรปเพื่อกดดันรัสเซียจนนำไปสู่วิกฤติในทุกวันนี้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอย่างร้ายแรง พวกเราประเทศในเอเชียตะวันออกต้องพยายามร่วมกันเพื่อรักษาโครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และไม่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติใดๆ มาสร้างการเผชิญหน้ากันและก่อความวุ่นวายและความตึงเครียด และไม่อนุญาตให้มหาอำนาจบางกลุ่มบีบบังคับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาคเป็นตัวหมากและเหยื่อของเกมในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และไม่อนุญาตให้ภูมิภาคนี้ตกเป็นพื้นที่แห่งความวุ่นวาย

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้นโยบายต่างประเทศที่สมดุลและไม่เลือกข้าง แน่นอนว่าจีนเข้าใจและเห็นใจแนวความคิดและความลำบากใจ เชื่อว่าอาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาคที่เติบโตมานานถึง 55 ปี มีวิสัยทัศน์ สติปัญญา และความสามารถเพียงพอที่จะตัดสินใจและวินิจฉัยอย่างชาญฉลาด จีนจะยึดมั่นในสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแน่วแน่ สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในโครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค และทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อปฏิบัติตามฉันทามติซึ่งบรรลุในการประชุมสุดยอดเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์จีน-อาเซียน เมื่อปีที่แล้ว.