เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด-19 การทำลายเชื้อโรคใน ATK ที่ใช้แล้ว

การตรวจ ATK ขณะนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย มีการตรวจวันละหลายแสนชิ้น ATK ที่ใช้แล้วไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อหรือตรวจไม่พบเชื้อ ถือเป็นขยะติดเชื้อ มาตรการในการทิ้งขยะติดเชื้อจะต้องใส่ถุงแดง และมีการทำลายอย่างถูกต้อง

ตามบ้านทั่วไปจะไม่มีถุงแดง และมาตรการการเก็บขยะ ไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ จึงเป็นปัญหาในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ถ้าทิ้งในขยะปกติที่ไม่ได้มีการแยกขยะ

ดังนั้นการตรวจน้ำเสีย ที่ทิ้งไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย หรือตามแม่น้ำลำคลอง จึงสามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสโควิดได้

สิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ หลังการตรวจ ATK คือการทำลายเชื้อในสิ่งที่ตรวจเสียก่อนที่จะนำไปทิ้ง

สารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อ covid-19 ได้ที่เรารู้จักกันคือแอลกอฮอล์ จะทำลายเชื้อเฉพาะไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้มไม่สามารถทำลายได้ เช่น ไวรัสในกลุ่มมือ เท้า ปาก ก็พบได้ในบริเวณลำคอเช่นเดียวกัน

สารเคมีที่สามารถทำลายไวรัสได้เป็นอย่างดีในทุกกลุ่ม ได้แก่สารในกลุ่มของฟอร์มาลิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ในทางปฏิบัติเราก็ไม่ได้ใช้กันตามบ้าน สารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ทำลายได้ดี ได้แก่สารที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารคลอรีนที่อยู่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ

ดังนั้น ATK ที่ใช้แล้ว ควรแยกทิ้งในขยะติดเชื้อหรือถุงแดง แต่ถ้าไม่มี ควรทำลายเชื้อเสียก่อนด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีส่วนประกอบของคลอรีน โดยหยดลงไป 1-2 หยดแล้วห่อให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการทำลายเชื้อเสียก่อน และจะต้องคำนึงว่าสารดังกล่าวเป็นสารกัดกร่อน และคลอรีนเป็นสารระเหย ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ