เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) จัดโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์เชิญผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภา กทม. ประชุมเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และร่วมประกาศเจตจำนงเลือกตั้งสุจริต

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 เปิดเผยถึงการลงพื้นที่หาเสียงว่า ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ประชาชนจะเลือกหรือไม่คงตอบแทนไม่ได้ หลังจากนี้ไม่ได้มีการปรับแผนหรือกลยุทธ์หาเสียง เพราะตนก็ทำตามธรรมชาติของตน สำหรับกระแสดราม่าเรื่องป้ายหาเสียง ที่อาจกีดขวางทางเท้า ได้สั่งทีมงานนำป้ายในส่วนที่ขวางทางเท้า ออกย้ายที่ติดตั้งและปรับรูปแบบป้ายให้เล็กลงอย่างเช่น ป้ายของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ที่บอกว่าป้ายใหญ่เกะกะ เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งตนเห็นด้วยกับนายชัชชาติ ต้องปรับให้เล็กลงเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวว่าทั้งนี้ต้องขออภัยหากป้ายหาเสียงเกะกะหรือกีดขวางการจราจร เบื้องต้นได้สั่งให้ทีมงานแก้ไขแล้ว ทั้งนี้บางคนส่งรูปมาแต่ไม่ได้ระบุสถานที่ จึงทำให้แก้ไขลำบาก ส่วนป้ายถูกทำลายก็ไม่ได้ไปแจ้งความ เพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่การสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้สมัครถึง 31 คนถือเป็นทางเลือกที่ทำให้คน กทม.ได้เลือกคนที่มีความสามารถหลากหลาย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ให้สัมภาษณ์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนหลังลงพื้นที่หาเสียงโดยพบว่า จุดแข็งของตน คือเราเข้าใจปัญหา เพราะลงพื้นที่มานาน และมีทีมงานที่ครบทุกด้าน ส่วนจุดอ่อนอยู่ที่ชุมชน เนื่องจากเราเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีฐานเสียง ชุมชนจึงเป็นจุดที่อ่อนแอ หลังจากนี้จะเน้นลงพื้นที่ชุมชนให้หนักขึ้น

ส่วนกรณีที่มีการนำป้ายหาเสียงของตนไปเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่น รวมไปถึงยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตนไม่ได้ทำป้ายขนาดเล็กเป็นคนแรกนั้น ที่ผ่านมาตนไม่เคยพูดว่าตนทำเป็นคนแรก เราทำตามที่คิดว่าเหมาะสมกับการเลือกตั้งในเขตเมือง จึงขออย่าสนใจใครทำก่อน ทำหลัง หรือเอาป้ายหาเสียงของตนไปเปรียบเทียบกับใคร ซึ่งหากมีใครใช้ป้ายขนาดเล็กเหมือนตนมากๆ ถือเป็นเรื่องดี ไม่กีดขวางประชาชน ดังนั้นขออย่านำไปเป็นประเด็นความขัดแย้ง ป้ายไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาหรือนโยบาย

น.ส.รสนา โตสินตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มติดป้ายหาเสียง และไม่ติดป้ายในพื้นที่สาธารณะ แต่เน้นติดป้ายในพื้นที่เอกชนและเผยแพร่นโยบายผ่านโซเชียลมีเดีย ส่วนจุดแข็งของตัวเองที่จะทำให้ชนะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้นั้น ที่ผ่านมาตนได้ทำงานรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และชาติ เคยมีผลงานหยุดยั้งการทุจริตจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีผลงานหยุดยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะฉะนั้นประชาชนต้องเห็นว่าตนทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 4 กล่าวว่า ส่วนตัวตั้งใจติดป้ายหาเสียงให้พอเหมาะพอควร และอยากได้ป้ายที่ทันสมัย เชื่อว่าป้ายหาเสียงนั้น ผู้สมัครทุกคนคงไม่ได้เจตนาติดป้ายหาเสียงขวางทางการจราจร เพราะผู้สมัครคงไปติดเองไม่ได้ แต่เชื่อว่าป้ายหาเสียงในยุคโซเชียล ทำให้ผู้สมัครต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งตนเดินไปหาเสียงก็ไม่ได้ไปอย่างเดียว แต่เดินไปดูป้ายด้วย อย่างที่เขตพญาไท ตนได้ไปรื้อป้ายของตัวเองมาแล้ว อย่างไรก็ตามประเมินการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ท้าทายมาก เพราะมีผู้สมัครจำนวนมาก หลายคนมีคะแนนเสียงที่ดี ต้องบอกว่าการเมืองไทยบอกอะไรไม่ได้เลย มีบิ๊กเซอร์ไพร้ส์ตลอดเวลา.