เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร และสุรินทร์ ตามนโยบายรัฐบาลว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมดำเนินการแล้ว ทั้งในส่วนจุดรับเมื่อผู้ป่วยถึงจังหวัด ขั้นตอนการคัดกรอง และพื้นที่ให้การรักษาผู้ป่วยทั้งส่วนที่เป็นศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น พร้อมที่จะรับส่งผู้ป่วยแล้ว โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด​ (บขส.), กรมขนส่งทางบก​ (ขบ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย​ (รฟท.) ได้จัดขบวนรถ รวมถึงได้ออกแบบเส้นทางการขนส่ง การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ มีความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติเพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข  ซึ่งหน่วยงานแรกที่จะเริ่มส่งผู้ป่วยได้คือ รฟท.  โดยมีการเตรียมแผนที่ให้บริการรถไฟสายอีสานใต้ ผ่านนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร เริ่มให้ส่งผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.64 เป็นต้นไป ทั้งนี้รถไฟขบวนพิเศษ ขบวน 971 เส้นทางต้นทางสถานีรถไฟรังสิต-ปลายทางอุบลราชธานี จะออกเดินทางจากสถานีรังสิต เวลา 09.00 น. โดยในวันที่ 27 ก.ค.นี้ มีผู้ป่วยที่แสดงความประสงค์กลับไปรักษาที่ 7 จังหวัดภูมิลำเนา 137 คน (มีอาการระดับเขียว-เหลือง)

“ได้สั่งการย้ำว่าทุกขบวนต้องเป็นขบวนพิเศษ ทั้งกรณีรถของ บขส. หรือรถไฟ  ทั้งพื้นที่และเวลาการขนส่งผู้ป่วยจะต้องแยกกับผู้โดยสารทั่วไป เพราะประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามหากจังหวัดอื่นๆ มีการประสานเข้ามา กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุนการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้โมเดลเดียวกันกับ 7 จังหวัดนี้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การจัดส่งผู้ป่วยของหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม จะดำเนินการโดยประสานข้อมูลร่วมกันกับ 3 หน่วยงานหลัก คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ​ (สปสช.), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และจังหวัด เพื่อให้การจัดส่งมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยตามขั้นตอนผู้ป่วยจะต้องติดต่อผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือติดต่อแจ้งความประสงค์กับแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะรวบรวมรายชื่อ จำนวนผู้ป่วย จำนวนเตียงที่ว่างแล้วแจ้งยอดต่อ สพฉ. จากนั้น สพฉ. จะแจ้งยอดผู้ป่วยให้กระทรวงคมนาคม เพื่อจัดขบวนรถ และจัดเส้นทางการขนส่ง พร้อมประสานวัน เวลา เพื่อเข้ารับตัวผู้ป่วยจากที่พักอาศัย โดยจะไม่ให้ผู้ป่วยเดินทางมา ณ จุดขึ้นรถเอง

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ระหว่างการส่งผู้ป่วยโดยรถขบวนพิเศษนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ไปกับขบวนรถ เพื่อดูแลผู้ป่วย และความเรียบร้อยในขบวนรถ  มีการแยกกลุ่มผู้ป่วยที่ชัดเจน เช่น กรณีของ รฟท.จะมีการแยกตู้ระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว และก่อนออกเดินทาง สพฉ. จะประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนออกเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง

“ขอย้ำกับผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษาตัว ณ ภูมิลำเนาทุกคนว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนการเดินทางเต็มที่ ขอให้ทุกคนเดินทางโดยผ่านระบบของทางการ อย่าเดินทางกลับเอง เพื่อเป็นการดูแลทั้งตัวเอง และประชาชนคนอื่น หากประสงค์กลับบ้านให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการจัดส่งผู้ป่วย โดยทั้งหมดภาครัฐให้การสนับสนุนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย” นายศักดิ์สยาม กล่าว