เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่า กทม. และของผู้สมัคร และความเจ็บปวด (Pain Points) ของคน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-23 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง ปัญหาคุณธรรม จริยธรรม ของ ผู้ว่า กทม. และของผู้สมัคร ที่ไม่พึงประสงค์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ระบุ การไม่มีสัจจะ รับปากแล้ว ไม่ทำตามสัญญา กับ ประชาชน รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ระบุ ผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวโยง เครือญาติ และพวกพ้อง ร้อยละ 80.7 ระบุ เชื่อมโยง ธุรกิจการเมือง ของ กลุ่มคนหนีคดี ทุจริต คอร์รัปชั่น ร้อยละ 80.0 ระบุ ไม่ซื่อตรง หมกเม็ด ปิดบัง ประชาชน ร้อยละ 79.6 ระบุ สมยอม ผลประโยชน์ พรรคพวก กลุ่มผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 79.6 ระบุ เคยมีประวัติ ด่างพร้อย หนีการตรวจสอบ และร้อยละ 79.3 ระบุ เรียกรับผลประโยชน์ ตามลำดับ

ที่น่าเป็นห่วงคือ จุดแห่งความเจ็บปวดของประชาชน คน กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ระบุ ปล่อยให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ จากการควบคุมอาคาร ผังเมือง ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 79.9 ระบุ เวลามีปัญหา ประชาชนเดือดร้อน ปัดความรับผิดชอบ อ้างสารพัด ปัญหาซ้ำซากยังอยู่เหมือนเดิม แก้ตัวไปเรื่อย ไม่เห็นแก้ไขอะไร ร้อยละ 79.0 ระบุ กล้องวงจรปิด CCTV เสีย ดูไม่ได้ เมื่อต้องใช้ใน คดี ร้อยละ 78.5 ระบุ ฝนตก น้ำท่วมอุโมงค์ อ้างไฟฟ้าขัดข้อง ร้อยละ 78.4 ระบุ ระบบการศึกษาของ เด็ก กทม. ไม่มีคุณภาพ มากพอ ร้อยละ 78.1 ระบุ ประชาชนต้องการความสะดวก ปลอดภัยทางถนน ปลอดภัยในชุมชน แต่ใช้งบประมาณไม่ตรงความต้องการ และร้อยละ 77.5 ระบุ โจรเข้าหมู่บ้าน ไม่ช่วยแก้ไข บอกว่า เป็นหน้าที่ของหมู่บ้านดูแลกันเอง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ในความตั้งใจจะเลือกผู้สมัคร ผู้ว่า กทม. คนใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ตั้งใจจะเลือกผู้สมัคร ผู้ว่า กทม. คนใหม่ ในขณะที่ ร้อยละ 1.4 ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็น คน กทม. ยี้ผู้ว่าฯ ผู้สมัคร ผลประโยชน์ทับซ้อน โยงเครือญาติและพวกพ้อง เพราะความเชื่อมโยงระหว่าง ปัญหาคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้สมัครรับเลือกตั้งทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกข์ยากและเจ็บปวดกับพฤติกรรมที่ขัดหลักคุณธรรมจริยธรรมหลายประการ เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อนเชื่อมโยงกับ เครือญาติและพวกพ้อง ความเชื่อมโยงกับธุรกิจการเมืองของกลุ่มคนที่หนีคดี ทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่ซื่อตรง หมกเม็ด ปิดบังประชาชน การสมยอมผลประโยชน์กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ และประวัติด่างพร้อย หนีการตรวจสอบ ที่ทำให้ประชาชนคน กทม. เจ็บปวดเพราะคนกรุงเทพมหานครเห็นว่า ไม่เห็นจะทำอะไรได้จริง ไม่มีผลงานที่โดนใจ ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนยังคงมีเหมือนเดิม เช่น ความไม่สะดวกในการเดินทาง ความไม่ปลอดภัยทางถนน ความไม่ปลอดภัยในชุมชน ปัญหาปากท้อง และการศึกษาไม่มีคุณภาพ เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า คุณธรรมและจริยธรรมของการใช้อำนาจ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงกับการบริหาร กทม. และ ปัจจัยตัวบุคคล (ของผู้ว่าฯ) กับ กลไกเชิงโครงสร้าง ในบริบทเฉพาะของ “การกระจายอำนาจการบริหารราชการ” (Decentralization) ทำให้สรุปได้ 3 ประเด็นสำคัญ 1) การกระจุกตัวของอำนาจในตัวบุคคลและในส่วนกลางของ กทม. คือที่มาของปัญหาการเอื้อประโยชน์เครือญาติและพวกพ้อง ธุรกิจการเมือง การยินยอมต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพล ดังคำกล่าวว่า อำนาจเบ็ดเสร็จไร้ขีดจำกัดทำให้เกิดฉ้อราษฎร์บังหลวงไร้ขอบเขต (Absolute Power Corrupts Absolutely–Lord Acton) 2) ความสัมพันธ์และดุลยภาพระหว่าง ตัวผู้ว่าฯ สมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) ผู้อำนวยการเขต กับประสิทธิภาพการบริหาร กทม. ในองค์รวมและในแต่ละเขต และ 3) การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบการแก้ปัญหาระดับพื้นที่ตรงความต้องการของประชาชนเป้าหมายอย่างทั่วถึง