พักนี้มีคนพูดถึงอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ถูกกล่าวหาว่าแก้ไขสัญญาระหว่าง รฟท.กับบริษัทเอกชน เอื้อประโยชน์แก่เอกชน เป็นเหตุให้รฟท.ได้รับความเสียหาย ในโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง ของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท

คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องอดีตผู้ว่าการ รฟท. กับพวกอีก 1 ราย ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงานกองกฎหมาย รฟท. แต่พอไปถึงศาลอุทธรณ์ เมื่อเดือน ก.พ. 64 ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าอดีตผู้ว่าการ รฟท.มีความผิดตามมาตรา 157 ลงโทษจำคุก 9 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ส่วนอีกรายยืนตามศาลชั้นต้น

จากกรณีอดีตผู้ว่าการ รฟท. ทำให้หลายคนโยงมาถึง“แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” เวอร์ชั่นล่าสุด! ที่ถูกนำเข้าไปประกอบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีความพยายามจะเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการนี้ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก-รฟท. และบริษัทเอกชน

แอร์พอร์ตลิ้งค์เปิดประมูล เส้นสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง | เดลินิวส์

งานนี้เห็นว่าเอกชนดังกล่าว น่าจะได้ข่าวดีเรื่องของการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้า  “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” จากสัญญาที่ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท ภายใน 24 ต.ค. 64 แต่มีการอ้างผลกระทบจากโควิด-19 ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินและแหล่งเงินกู้โครงการ จึงขอขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิรับโอนออกไป 10 ปี

ย้ำว่า! กรณีเงินก้อน 10,671 ล้านบาท มีผู้คนมองว่า “รัฐเสียเปรียบ ถ้ายอมให้ผ่อน หรือลด! เพราะเอกชนไม่ต้องสร้างรางใหม่ แต่ส่งมอบให้ไปด้วยตามสัญญาการเข้าบริหารต้องจ่ายค่า up front ก่อน 10,671 ล้านบาท ค่า up front ทั่วไปเรียกว่าค่าตอบแทนกินเปล่า ต้องจ่ายเป็นก้อนทันทีทั้งหมด ผ่อนไม่ได้ จะอ้างโควิด-19 ไม่ได้! ถ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หากสัญญาถูกขอเลื่อนไป รฟท.ต้องเอาคืนมา ไม่ส่งมอบ เพราะเก็บเงินได้ทุกวันอยู่แล้ว เอาไปให้เอกชนเก็บเงินไปวัน ๆ ได้ไง?”

ถ้าไม่มีเงินมาจ่ายก้อนนี้ก่อน แล้วจะทำโครงการต่อไปได้หรือ? เนื่องจากสัญญาหลักโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ต้องลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท เอกชนต้องระดมทุนไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท หรือปีละไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโครงการให้ได้ตามเป้าหมายใน 5 ปี ไม่สาหัสไปกว่าก้อนแรกแค่ 10,671 ล้านบาท หรือ?

แล้วเอกชนรายอื่นที่ได้งานของรัฐไปทำ ได้งานรถ ไฟฟ้าสายอื่น ๆ ก็เจอโควิด-19 เหมือนกัน เจอปัญหาแรงงาน ปัญหาน้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และค่าไฟฟ้าพาเหรดขึ้นราคากันเป็นแถว เขาออกมาร้องแรกแหกกระเชอกันบ้างหรือเปล่า?

แต่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน อาจไม่ได้มีแค่การเคลียร์ด่านแรก 10,671 ล้านบาทให้ผ่านแค่นั้น! แต่อาจจะมีการเคลียร์ด่านที่ 2 ตามมา นั่นคือการจะขอแก้ไขสัญญาหลัก เพื่อขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างโครงการ หรือเงินร่วมลงทุนในส่วนของภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) จำนวน  117,227 ล้านบาท ออกมาใช้ก่อน แม้จะไม่ใช่ “หมูในอวย” ก็ตาม!  

เพราะตามเงื่อนไขประกวดราคาและสัญญาร่วมลงทุนฯ กำหนดเอาไว้ว่ารัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนการลงทุนในโครงการนี้ ให้เมื่อเอกชนผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยจะชำระคืนในระยะเวลา 10 ปี พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 2.35%

งานนี้ “ไม่ใช่หมูในอวย” ก็จริง! แต่อาจจะมีประเภทที่ว่าคนของรัฐไปกินดีหมี ดีเสือ มาจากไหนไม่รู้ ? กล้าเอาคอตัวเองไปพาดบนเขียง ช่วยมองหารู หาช่องเพื่อผ่อนคลายสัญญาให้เอกชน จนแทบจะเป็นการ “จับเสือมือเปล่า”

ดังนั้นจึงต้องหยิบยกกรณีของอดีตผู้ว่าการ รฟท. ขึ้นมาวนฉายซ้ำ! ออกมาย้ำเตือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องว่าอาจจะมีอาถรรพณ์ “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต!!

———————–
พยัคฆ์น้อย