กระแสแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมปัจจุบันทำให้คนจำนวนมากมองว่า ‘พลาสติก’ คือ ‘ผู้ร้าย’ คือปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่ในความเป็นจริงแล้ว พลาสติกเป็นวัสดุที่มีประโยชน์และมนุษย์ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคในชีวิตประจำวันได้ เพราะประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลายและราคาถูก

หากใคร่ครวญอย่างรอบด้าน อาจพูดได้ว่า พลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบริโภคพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือยของชาวโลกต่างหาก และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด ‘ไมโครพลาสติก’ จำนวนมหาศาลซึ่งเริ่มส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในแง่ของสุขภาพโดยรวม

พลาสติกไม่ใช่วัสดุที่ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์แบบ มันทำได้ดีที่สุดก็แค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เป็นเศษผง เป็นอนุภาคเล็กจิ๋ว และเมื่อใดก็ตามที่มันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร หรือขนาดประมาณเมล็ดข้าว นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ 

เนื่องจากไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมากและเบามาก มันจึงสามารถล่องลอยไปในอากาศ ไปตามสายลม สู่ทุกพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเล เรียกได้ว่ามันสามารถเข้าไปอยู่ในทุกที่ เช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์จะรับอนุภาคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

มีการประเมินว่าปัจจุบัน มนุษย์น่าจะบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยราว 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเปรียบเทียบว่าเท่ากับปริมาณของพลาสติกที่ใช้ทำบัตรเครดิตได้ 1 ใบ 

ไม่เพียงสามารถผ่านเข้าสู่ระบบการย่อยอาหารและขับถ่าย มีการทดสอบและตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าในบางกรณี ไมโครพลาสติกยังสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและไปตกค้างอยู่ที่บริเวณปอด

จากกรณีศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการพบไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อปอดของคนไข้จำนวน 11 ราย และในเลือดของสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมการทดสอบจำนวน 17 คน จากทั้งหมด 22 คน

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานไว้แล้วว่าในร่างกายคนน่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ด้วย เนื่องจากมีการพบไมโครพลาสติกอยู่ในของเสียที่ถูกร่างกายขับถ่ายออกมา รวมถึงในสายรกของทารกที่เสียชีวิตก่อนถือกำเนิด ซึ่งสร้างความกังวลว่าจะกลายเป็นอันตรายต่อการพัฒนาตัวอ่อนของทารกในครรภ์

เรารู้กันดีว่าพลาสติกผลิตจากสารเคมีหลายชนิดและบางชนิดก็อาจเป็นพิษต่อร่างกายคน ปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของพลาสติก ขนาดของอนุภาคและอวัยวะส่วนใดของร่างกายคนที่มีไมโครพลาสติกสะสมหรือตกค้าง เพื่อนำไปต่อยอดการศึกษาถึงอันตรายที่มีต่อสุขภาพในระยะยาวจากการบริโภคหรือสูดดมไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย

การศึกษาในขั้นต่อไปได้แก่กรณีวิจัยว่าไมโครพลาสติกจะสามารถปิดกั้นหรือทำให้เส้นเลือดของเราอุดตันได้หรือไม่ รวมทั้งมีผลในการแทรกแซงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอย่างไร 

กระนั้น ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการมีไมโครพลาสติกในร่างกายคนจะส่งผลโดยรวมต่อสุขภาพในรูปแบบใด หรือปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างเห็นได้ชัดคือเท่าไหร่ และว่ากันว่า นี่อาจเป็นกรณีศึกษาที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องกันไปอีกหลายชั่วอายุคน.

แหล่งข้อมูล : insider.com

เครดิตภาพ : Getty Images