เสด็จฯ เปิดงาน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ กรมการข้าว จัดประชุมเตรียมการรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวระดับประเทศ เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ อาคารหอจดหมายเหตุ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ พลอากาศตรี วินัย พุ่มไพจิตร ราชองครักษ์ในพระองค์ หัวหน้าคณะนำส่วนล่วงหน้าฯ และนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมผู้บริหารกรมการข้าว หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจพื้นที่

จากนั้น นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อเตรียมการรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวระดับประเทศ เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2565 (เป็นการส่วนพระองค์) ในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2565 เวลา 15.00 น. ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กรมการข้าว ร่วมกับ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวระดับประเทศ เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2565 ขึ้น ในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2565 ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ใช้ในการจัดงานดังกล่าว เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อประกอบพิธีสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย จากนั้น ทรงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ชมทัศนียภาพโดยรอบทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งตลอดเส้นทางเสด็จ พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ ต่างโบกธงด้วยความปลื้มปีติและเปล่งเสียงทรงพระเจริญจนดังกึกก้อง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นวันสำคัญของพสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตราบจนทุกวันนี้อีกด้วย (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

พระพลังแผ่นดิน

ช่วงเช้าของวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในพิธีพระราชทาน พระพลังแผ่นดิน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กับนายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ปลัดจังหวัดสิงห์บุรี และนายอำเภอทุกอำเภอ รวมจำนวน 9 ราย ณ ห้องโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี หลังใหม่ ศูนย์ราชการจังหวัดสิงห์บุรี

ด้วยสำนักพระราชวังได้จัดพิธีพระราชทานพระพลังแผ่นดินให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายน 2565 ณ อาคารบัญชาการ หน่วยราชการในพระองค์ 904 พระที่นั่งอัมพรสถาน นำไปจัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดิน ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ได้รับพระราชทานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานในการปฏิบัติหน้าที่ กระทรวงมหาดไทยได้จัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดิน ให้แก่ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเชิญไปจัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดินให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ทุกจังหวัด

พระพลังแผ่นดิน เป็นพระเนื้อผงทรงสามเหลี่ยม มีรูปแบบพุทธศิลป์ ด้านหน้าเป็น พระศรีศากยสิงห์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย เข้าสู่ยุคกึ่งพุทธกาล มีนาคพันพระอุระ หมายถึง ทรงโปรดทั้ง 3 ภพ (ไตรภูมิ) เลข 9 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เลข 10 หมายถึง พระทศพลญาณ พญาครุฑ หมายถึง ครุฑที่ดูแลชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทรงตบะบารมีอำนาจ ทำให้เกิดความสงบ ร่มเย็น เป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน รูปจักร หมายถึง จัดสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์จักรี (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

TO BE NUMBER ONE

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะ เข้าร่วมการประกวดผลงานจังหวัด อำเภอ และชมรม TO BE NUMBER ONE ระดับภาคกลาง และภาคตะวันออก ประจำปี 2565 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ดังนี้

1. จังหวัด TO BE NUMBER ONE รักษามาตรฐานพร้อมเป็นต้นแบบระดับเงิน ปีที่ 1 นำทีมโดย นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางรัตนา ทองกลับ แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอผลงานจังหวัด TO BE NUMBER ONE

2. ชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนบางปะหัน รักษามาตรฐานพร้อมเป็นต้นแบบระดับทองปีที่ 1

3. ชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” รักษามาตรฐานพร้อมเป็นต้นแบบระดับเงินปีที่ 1

4. ชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ประเภทดีเด่น

5. ชมรม TO BE NUMBER ONE ศูนย์ฝึกและอบนมเด็กและเยาวชนรักษา มาตรฐานพร้อมเป็นต้นแบบระดับทองปีที่ 1

6. ชมรม TO BE NUMBER ONE สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเภทดีเด่น (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

บริจาคโลหิต

“อยุธยาซิตี้พาร์ค ชวนร่วมบริจาคโลหิต ยิ่งให้…ยิ่งได้สุขภาพดี” ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 2 จังหวัดลพบุรี ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จัดกิจกรรม “อยุธยาซิตี้พาร์ค รวมใจให้ชีวิต” ส่งต่อโลหิต 22 แสนซีซี เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการเลือดจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบผู้บริจาคโลหิตลดลง เลือดทุกกรุ๊ปขาดแคลน จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง บริจาคโลหิตเร่งด่วน ในวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และ 21 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00-13.30 น. ชั้น 2 หน้าโรบินสัน ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-3580-1919

ศูนย์การค้าฯ รักษามาตรการและสร้างความมั่นใจให้เป็นสถานที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ควบคุม ดูแล รักษาความสะอาด อุปกรณ์ สถานที่ สุขอนามัยของผู้มาบริจาคโลหิต และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน มั่นใจได้ว่าไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ขจัดความยากจน

ช่วงบ่ายของวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายประจัญ จันทร์เนตร์ พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางนิรดา สงวนคัมธรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายอุดมศักดิ์ ปานศรี พัฒนาการอำเภอบางปะอิน นายไชยา เจริญยิ่ง ปลัดอำเภอ (หัวหน้ากลุ่มบริหารงานปกครอง) ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น ทีมปฏิบัติการตำบล ทีมพี่เลี้ยง ลงพื้นที่ช่วยเหลือมอบถุงยังชีพของใช้อุปโภคบริโภคและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน จำนวน 3 ราย ได้แก่ หมู่ที่ 2 ตำบลคลองจิก หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงรากน้อย และหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแป้ง

สำหรับการดำเนินงานศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในทุกระดับ และภาคีการพัฒนา นำข้อมูลในระบบ TPMAP ไปใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมายรายบุคคล/ครัวเรือน เพื่อจัดลำดับความสำคัญที่ต้องเร่งลงพื้นที่ (การเคาะประตูบ้าน – Knock Knock) ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบในมิติปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีครัวเรือนเป้าหมาย TPMAP ปี2565 ทั้ง 5 มิติ จำนวน 3,537 ครัวเรือน 14,180 คน แบ่งออกเป็น มิติสุขภาพ 657 ครัวเรือน มิติความเป็นอยู่ 349 ครัวเรือน มิติการศึกษา 511 ครัวเรือน มิติรายได้ 2,420 ครัวเรือน และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ 6 ครัวเรือน (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

ประดิษฐ์ผีเสื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า ณ ศาลาอบรมพระสงฆ์เฉลิมพระเกียรติ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมทั้งคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอพระพุทธบาท ผู้นำชุมชน และประชาชนอำเภอพระพุทธบาท เข้าร่วมกิจกรรมการประดิษฐ์ผีเสื้อร่วมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยจะจัดแสดง ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประดิษฐ์ผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 จังหวัดสระบุรี ได้ร่วมกันประดิษฐ์ผีเสื้อจากผ้าไทย ไหม ผ้าฝ้าย ผ้าทอมือ และผ้าอัตลักษณ์จังหวัด ซึ่งให้หน่วยงาน กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ประชาชนประดิษฐ์ เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จะนำผีเสื้อที่ประดิษฐ์ ไปจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยจะรวบรวมนำผีเสื้อผ้าไทยเฉลิมพระเกียรติฯ แบบคละสี คละลายผ้า คละรูปแบบ และหลากหลายขนาด ไม่จำกัดจำนวน ส่งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี เพื่อรวบรวมให้กับกระทรวงมหาดไทย นำไปประดับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

รอยพระพุทธบาท

นายเดชวุฒิ นิลแย้ม นายอำเภอพัฒนานิคม มอบหมายให้นายอภิรม เดชสงคราม ปลัดอำเภองานศูนย์ดำรงธรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จังหวัดระยอง กรมทรัพยากรธรณี เจ้าคณะอำเภอพัฒนานิคม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีการแจ้งขอให้ตรวจสอบว่ามีการพบรอยพระพุทธบาท และวัตถุโบราณ ณ เทือกเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า รอยพระพุทธบาทตามที่มีการพบเห็น ไม่ใช่เป็นรอยพระพุทธบาทตามคติโบราณ แต่เป็นร่องรอยจากการกัดเซาะของน้ำบนหินตามธรรมชาติ สำหรับอุโมงค์หิน เกิดจากแยกตัวของชั้นหินตามธรรมชาติ นอกจากนี้ บ่อน้ำหินและหินรูปร่างคล้ายจั่ว เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนระยะเวลาและประวัติความเป็นมาต้องให้กรมศิลปากรตรวจต่อไป (กฤษณพงศ์ อยู่รอด -ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

ร่วมสวดอภิธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า นายอมร บริรักษ์เลิศ นายอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย ส.ส.ทายาท เกียรติชูศักดิ์ นางเพลินพิศ ศรีภพ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี นายบรรเลง ลิ้มมาลีนันท์ รองนายกเทศมนตรีเมืองตาคลี นายวรากร ศรีภพ ประธานมูลนิธิการกุศลตาคลี ประธานสภาฯ พร้อมสมาชิกสภาเทศบาลเมืองตาคลี นางสมควร วรพันธุ์ตระกูล รองนายกกิ่งกาชาดอำเภอตาคลี และคณะกรรมการกิ่งกาชาดอำเภอตาคลี และ พ.ต.อ.เดชา ศรีชัย ผกก.สภ.หนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และผู้มีเกียรติ ร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ นางกัลยาณี โตวิวัฒน์ (ลูกสะใภ้นายประสิทธิ์-นางสุภา โตวิวัฒน์) ณ ศาลาการเปรียญวัดสว่างวงษ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าภาพขอขอบคุณในงานฌาปนกิจศพ นางกัลยาณี โตวิวัฒน์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00 น. ณ เมรุวัดสว่างวงษ์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ (กิตติ์ธเนศ พัวพรพงษ์ / นครสวรรค์)

ออกหน่วยแพทย์

ช่วงเช้าของวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ โรงเรียนบ้านไร่วิทยา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมออกหน่วยแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่บริการประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบ้านไร่ โดยมี ทันตแพทย์ริม เกษสาคร ประธานมูลนิธิหน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ส่วนราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งหลังเปิดกิจกรรมได้มีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ จำนวน 10 ทุน ด้วยกัน

มูลนิธิหน่วยแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่ และสโมสรโรตารีภาคเหนือ ร่วมกับ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ได้จัดกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 3 ครั้งแล้ว ในช่วงเดือน มีนาคม ถึงเมษายน ที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เพื่อรักษาสุขภาพช่องปากให้กับคนในชุมชนอำเภอบ้านไร่ โดยไม่มีค่ารักษาหรือค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น

การให้บริการของหน่วยแพทย์ประกอบไปด้วย การตรวจรักษาทางการแพทย์ ได้แก่รักษาโรคทั่วไป จัดทำทันตกรรมประดิษฐ์ (ฟันปลอมชนิดถอดได้) บริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน การจัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับการบริการรักษากันเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ผู้แทนกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า การส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุนชนเป็นนโยบายของทางโรงงานอยู่แล้วโรงงานเราก็คือหน่วยหนึ่งในชุมชน เราเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านกัน ดังนั้นการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คนในชุมชนบ้านไร่ และชาวไร่อ้อยให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีและสมควรสนับสนุนอย่างยิ่ง จึงร่วมมือกับมูลนิธิหน่วยแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่ และสโมสรโรตารีภาคเหนือ ในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น (ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม / อุทัยธานี)

SME ครบวงจร

วันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุม โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุมการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ SME จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตัวแทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมี นายกริชชา ฤทัยธนารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมในครั้งนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดการประชุมศูนย์กลุ่มจังหวัดให้บริการ SME ครบวงจร ภาคกลางตอนบนขึ้น เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ SME โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็น เรื่องแนวทางการส่งเสริม SME ภายใต้แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570) และทิศทางการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนากลไกการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของ สสว. ตลอดจนรับฟังแผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ SME จังหวัด และเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างจังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ดร.วีระพงศ์ มาลัย เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้ศูนย์กลุ่มจังหวัดให้บริการ SME ครบวงจร เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ จึงจัดประชุมเพื่อนำแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ นำเสนอในระดับประเทศต่อไป (เผอิญ -วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ชุมชนพอเพียง

บ้านห้วยสิบบาท หมู่ที่ 7 ตำบลเจริญธรรม อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ที่มีการจัดตั้งเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลโล่ห์พระราชทาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา นายจักรพันธุ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และประธานกรรมการบ้านห้วยสิบบาท ได้ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านพัฒนาประชากรในหมู่บ้าน ให้เข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถสร้างคุณภาพชีวิตพื้นที่ จัดทำทีมนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรมกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาชีพเสริมด้านการปลูกหญ้าคาและกลุ่มอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านอื่นเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)

โชว์ผลงาน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ดร.พงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวว่า ได้นำเอาผลงานที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้นำเสนอต่อ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้ให้เกียรติเยี่ยมชมผลงานในการทำงานหลายโครงการจนได้รับรางวัลมากมาย ของ อบต.รางจรเข้ ในงานนี้ได้มี นางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอเสนา พันตำรวจเอกธีทัต สีดารักษ์ ผกก.สภ.เสนา นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล ผอ.โรงพยาบาลเสนา นายเกียรติศักดิ์ ชั้วทอง สสอ.เสนา นายพงศกร มงคลหมู่ นายก อบต.รางจรเข้ ร่วมต้อนรับและนำเสนอผลงานกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

วันต้นไม้ประจำปี

ตามที่คณะรัฐมนตรี กำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปี เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เทศบาลเมืองตาคลี จึงได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2565” ในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 โดยมี นางเพลินพิศ ศรีภพ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ และนายอำนวยชัย กีรกมลชัย รองนายกเทศมนตรีเมืองตาคลี เป็นผู้กล่าวรายงาน รองบรรเลง ลิ้มมาลีนันท์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างและกระตุ้นจิตสำนึก ให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้มีคณะผู้บริหารเทศบาล ประธานสภาและสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน และพนักงานจ้างเทศบาลเมืองตาคลี ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ ซึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย ต้นอินทนิล ต้นเสลา และต้นกัลปพฤกษ์ ที่เป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกและให้ความร่มรื่น จำนวน 300 ต้น ณ บริเวณทางเข้าสนามกีฬาเทศบาลเมืองตาคลี อำเภอตาคลี นครสวรรค์ (กิตติ์ธเนศ พัวพรพงษ์ / นครสวรรค์)

วันต้นไม้ของชาติ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) บูรณาการร่วมกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2565 จังหวัดสิงห์บุรี ณ บริเวณป่าชุมชนบ้านกะดีแดง หมู่ที่ 2 ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี

โดย นายบำรุง แสงพันธุ์ ทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสิงห์บุรี มีแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยการเก็บรวบรวมและคัดเลือกเมล็ดยางนาที่มีความสมบูรณ์ จากต้นยางนาในพื้นที่โครงการปกปักษ์ทรัพยากรต้นยางนา บริเวณวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรีแห่งที่ 2 ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง มาเพาะเมล็ดขายพันธุ์ ดูแลรักษากล้าไม้จนพร้อมนำไปปลูกแลจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ยางนาขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) รวบรวมพันธุกรรมไม้ยางนาที่มีลักษณะดีไว้ และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2532 อนุมัติให้วันวิสาขบูชาของทุกปี เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยตระหนักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ อันจะเป็นหนทางน้ำไปสู่การอนุรักษ์และรู้จักการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า กรมป่าไม้จึงเชิญชวนให้จังหวัดและหน่วยงานในสังกัด จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2665

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกับศูนย์ป่าไม้สิงห์บุรี สถานีเพาะกล้าไม้จังหวัดสิงห์บุรี สวนรุกขชาติคูเมือง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพประจักษ์ ได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่และมีความเห็นว่าป่าชุมชนบ้านกะดีแดง มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่ขึ้นในพื้นที่รอบบึง จึงมีความเหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมฯ โดย นายสมชาย วุฒิชัยกุล นายอำเภอท่าช้าง นางน้ำทิพย์ โตสงัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพประจักษ์ ตำรวจสันติบาล และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ร่วมกันปลูกต้นยางนา จำนวน 100 ต้น พร้อมทั้งพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำเพื่อให้ป่าชุมชนบ้านกระดีแดงแห่งนี้ เป็นป่าชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นต้นแบบของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ นำไปขยายผลต่อไป (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)