ในการขับรถแต่ละครั้ง นอกจากการความเข้าใจเรื่องการใช้งาน และการขับรถที่ช่วยลดค่าน้ำมันเพียงอย่างเดียว ก็คงจะไม่พออีกต่อไป เพราะในหลายๆ ครั้ง พฤติกรรมการขับรถยนต์ที่ผิดรูปแบบ อาจจะทำร้ายรถยนต์ที่คุณรักโดยไม่รู้ตัว จะมีอะไรบ้าง วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” มีคำตอบมาฝากกันครับ

1.ก่อนบิดกุญแจสตาร์ตเครื่องยนต์ ควรสำรวจอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทุกชนิดว่าปิดการใช้งานหรือไม่ เมื่อไม่ให้ดึงกำลังไฟในการสตาร์ต หลังสตาร์ตรถไม่ควรเหยียบคันเร่งออกรถไปทันที อุ่นเครื่องยนต์ประมาณ 2-3 นาที เพื่อให้เครื่องยนต์ร้อนมากพอลดความหนืดของน้ำมันเครื่องสามารถไหลเข้าไปหล่อลื่นส่วนต่าง ๆ ช่วยลดความสึกหรอ ทำให้เครื่องยนต์มีอายุใช้งานไปได้อีกนาน

2.ขับผ่านลูกระนาด ฝาท่อ คอสะพาน และขับผ่านเส้นทางขรุขระโดยไม่ชะลอความเร็ว จะมีผลโดยตรงต่อ ช่วงล่างต่าง ๆ ทั้งส่วนโช้คอัพ สปริง ลูกหมาก ปีกนกและแร็คพวงมาลัย ทำให้ต้องรับแรงกระแทกมาก และอายุการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้สั้นลงและต้องสิ้นเปลืองเปลี่ยนชิ้นส่วนช่วงล่างเร็วกว่าปกติ

3.หลายคนเคยชินกับการวางเท้าไว้บนแป้นคลัตช์ตลอดเวลา เพื่อความสะดวกในการใช้งานได้ทันที แต่พฤติกรรมนี้ บางครั้งเผลอทิ้งน้ำหนักลงไปบนคลัทช์ ส่งผลให้ผ้าคลัตช์และฟลายวีลสึกหรอเร็วกว่าปกติ

4.การเดินทางทั่วไป ควรเติมลมยางตามมาตรฐาน ที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้ ถ้าต้องเดินทางไกลให้เพิ่มแรงดันลมยางสูงขึ้นอีก 2-3 ปอนด์ ลมยางอ่อนกว่ามาตรฐานจะทำให้ยางด้านนอกสึกมากกว่าด้านในและเสี่ยงเกิดยางระเบิดมากกว่า

5.ไม่ควรเปิดแอร์ทิ้งไว้ เพราะการสตาร์ทเครื่องยนต์จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์เริ่มทำงานทันที ทำให้มีการกระชากเป็นผลให้อายุการใช้งานของคอมเพรสเซอร์แอร์สั้นลง การปิดคอมเพรสเซอร์ก่อนดับเครื่องยนต์ อย่างน้อย 5-10 นาที จะไล่ความชื้นในตู้แอร์ ไม่เป็นแหล่งสะสมฝุ่น สามารถยืดอายุตู้แอร์และลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากความชื้นอีกด้วย

6.สำหรับผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติ ควรเลี่ยงการจอดรถบนทางลาดชันเป็นประจำ เพราะจะทำให้สลักล็อกเกียร์รับภาระน้ำหนักรถมาก เมื่อดึงคันเกียร์จากตำแหน่ง P มาเป็นเกียร์ R จะมีเสียงดังเพราะตัวล็อกเกียร์ขัดรุนแรงและเข้าเกียร์ยากด้วย ถ้าจำเป็นต้องจอดรถบนทางลาดชันให้จอดรถจนนิ่งสนิทเรียบร้อย แล้วดึงเบรกมือ ขึ้นจนสุดก่อนจะปล่อยเบรกเท้า เมื่อแน่ใจว่ารถไม่ไหลแล้ว จึงเลื่อนเกียร์ไป N แล้วใส่เกียร์ P เป็นขั้นตอนบำรุงรักษาเกียร์แบบง่าย ๆ ที่ควรฝึกให้เคยชิน

7.ขณะรถติดไฟแดง ผู้ขับรถเกียร์ธรรมดาควรปลดเกียร์ว่างและเหยียบเบรกป้องกันรถไหล ส่วนผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติควรปลดเกียร์ว่างและดึงเบรกมือ แต่หลายคนเคยชินกับการเหยียบเบรก โดยคาเกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง D หากติดไฟแดงนาน เวลาขยับตัวเท้าอาจหลุดจากแป้นเบรกแล้วรถพุ่งไปชนคันหน้า ควรเปลี่ยนนิสัยใหม่ อย่างน้อยเหยียบเบรกไว้พร้อมกับเลื่อนตำแหน่งคันเกียร์มาที่เกียร์ว่างก็ยังดีครับ..

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]