“ดังสุด” คือ เสียงจากบรรดาผู้ปกครอง เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวถือว่าราคาสูงเมื่อเทียบกับภาระค่าครองชีพจำเป็นอื่น แต่หากมองในมุม “ความปลอดภัย” ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์ป้องกันสำคัญมาเป็น “อันดับหนึ่ง” แน่นอน

จากข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบสถิติในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560-2564 มีเด็กอายุ 0-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 1,555 คน ในจำนวนนี้พบว่ามี 221 คน เกิดขึ้นจากการโดยสารรถยนต์ คิดเฉลี่ยปีละ 44 คน โดยข้อมูลยังพบว่าเด็กไทยใช้คาร์ซีทเพียงร้อยละ 3.46 เท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลจาก National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ระบุว่า คาร์ซีทช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ได้ถึงร้อยละ 71, เด็กเล็กอายุ 1-4 ปี ลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 54, อายุมากกว่า 5 ปี ลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ร้อยละ 45 และช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงได้ถึงร้อยละ 50

นายศีรวิษ สุขชัย ทนายความ สะท้อนมุมมองกฎหมายว่า เดิมกฎหมายจราจรทางบกที่ระบุไว้ให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะเดินทางในรถยนต์นั้นไม่สามารถนำไปใช้กับ “เด็กเล็ก” ได้ เนื่องจากลักษณะรูปร่างของเด็กยังใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์ไม่ได้ และที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ดังนั้น เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในเด็กระหว่างเดินทาง จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และเป็นที่มาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับล่าสุด

โดยบังคับให้ขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 มาตรา 7, มาตรา 123 ประกอบมาตรา 148

(มาตรา 123 ในการขับรถยนต์ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในรถ ผู้โดยสารที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องให้นั่งในที่นั่งนิรภัย และผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องรัดเข็มขัดไว้กับที่นั่ง)

อย่างไรก็ตาม นายศีรวิษ ระบุ ส่วนตัวมองว่าโทษตามกฎหมายที่ปรับเพียง 2,000 บาทยังน้อย อาจไม่สามารถบังคับให้คนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ขณะที่ในมุมสภาพคล่องของประชาชนอาจมองเป็นการเพิ่มภาระ ดังนั้น ควรพิจารณาแก้ปัญหาไปที่ต้นทางผู้ประกอบการรถยนต์ที่ระบุหรือบังคับให้มีที่นั่งติดตั้งพร้อมรถยนต์มาด้วย

“ความเห็นของตนยังคงเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ยังมีโทษน้อยอยู่ เพียงโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท คงไม่สามารถบังคับให้คนต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายนี้ได้ และอาจไม่เป็นธรรม สำหรับคนที่มีปัญหาทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ขับรถยนต์ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาควรจะมองถึงต้นทางของผู้ประกอบการในการขายรถยนต์อาจระบุ หรือบังคับให้มีที่นั่งนิรภัยติดมาพร้อมกับตัวรถยนต์ด้วยเลย”

อีกด้าน นายไพบูลย์  ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค มองในมุมเกี่ยวกับผู้บริโภค เห็นว่า ภาครัฐควรช่วยดูแลในเรื่องนี้เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันบางครอบครัวมีข้อจำกัดของรายได้ ทำให้เข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวยาก ดังนั้น อาจเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหาให้กับผู้เดือดร้อนบางกลุ่ม

ทั้งนี้ ระยะสั้น เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ต้องกำกับดูแลราคาไม่ให้มีการฉกฉวยขึ้นราคาไปอีก กระทรวงการคลัง ควรพิจารณาให้มีมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ผู้ปกครองมีช่องทางลดหย่อนค่าใช้จ่ายจากการซื้อคาร์ซีทมาใช้ ขณะที่ระยะยาวเห็นควรสนับสนุนให้มีการลงทุนผลิตคาร์ซีทในประเทศไทย เพราะมองว่าหลังกฎหมายบังคับใช้จะมีความต้องการอีกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องทำให้สินค้ามีราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน

จากกระแสตลอดสัปดาห์ อุปสรรคสำคัญของอุปกรณ์ปลอดภัยในเด็ก ส่วนใหญ่พุ่งไปที่ภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น นอกเหนืออำนาจการออกและบังคับใช้กฎหมาย หากภาครัฐเพิ่มการใช้อำนาจช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เอื้อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยได้ด้วยก็น่าจะดี. 

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]