แจ้งเกิดในชื่อ “รถไฟฟ้าสีน้ำตาล” มาหลายปีแล้ว จากการศึกษาโครงการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำหรับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะมาเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สถานะล่าสุดโครงการเริ่มขยับ เมื่อ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ว่าจ้างลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท แมสทรานสิทโซลูชั่นส์ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไทย ทรานซิส โซลูชั่นส์ จำกัด ปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร (กม.)

เบื้องต้นโครงการนี้จะใช้วงเงินลงทุนอยู่ที่ 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,864 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 19,013 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,255 ล้านบาท

รฟม. ได้วางกรอบดำเนินงานไว้เบื้องต้นจะใช้เวลาในขั้นตอนการทบทวนความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาประมาณ 1 ปี โดยจะแล้วเสร็จช่วงเดือน ก.ย.66 จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ก.ย.66 เริ่มประกวดราคาปี 66-67 ได้เอกชนผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนปี 68 ใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 39 เดือน และเปิดให้บริการในปี 71

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 20 สถานี พื้นที่โครงการมีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 (เกษตรฯ-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก) บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ระยะทาง 7.2 กม. (6 สถานี) ซึ่งฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะสร้างโครงสร้างทางวิ่งเป็นคานคอนกรีตที่วางบนคานขวางออกแบบให้มีเสาตอม่อสายสีน้ำตาลแทรกระหว่างเสาทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว มีระยะห่างช่วงตอม่อ 25-30 เมตร เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายนี้พัฒนาร่วมกับระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน รถไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.3% ขณะที่ทางด่วนให้ผลตอบแทน 38.9% ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เริ่มจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริ และถนนรามคำแหง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 7 สาย 7 สี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อม รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อม รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อม รถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ สีส้ม

รฟม. คาดการณ์ปีแรกของการเปิดบริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน.

สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 (เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก) ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการฯ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว กทพ.นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยวางเป้าหมายเปิดประมูลภายในปีนี้ ใช้เงินจากกองทุนรวมไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) ลงทุนก่อสร้างได้ทันทีหาก ครม.ไฟเขียว

“โครงการ N2 จะมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเชื่อมกับN1(แคราย-ม.เกษตร) เพื่อถ่ายโอนปริมาณการจราจรจากงามวงศ์วานไปวงแหวนตะวันออก(มอเตอร์เวย์บางปะอิน-บางพลี) ขณะนี้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กำลังพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนและผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ ยืนยันว่า N2 เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ” นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมบอกถึงใจความสำคัญ

รมว.คมนาคม ระบุไว้ด้วยว่า ได้มอบปลัดกระทรวงคมนาคม และ กทพ. เจรจามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อขอใช้พื้นที่แนวรั้วปักเสาตอม่อทางด่วน N1 อีกครั้ง โดยเฉพาะประโยชน์ รวมถึงข้อดีข้อเสีย และสิ่งที่ มก. กังวลเรื่องเสียง และฝุ่น ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องนำเสนอให้ชัดเจนว่า จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร หากอธิบายแล้ว มก. เห็นด้วย ก็เดินหน้าโครงการได้เต็มที่ แต่หากไม่เห็นด้วยก็ต้องทำเท่าที่ดำเนินการได้ ข้อจำกัดเรื่องนี้คือ ปัจจุบันภาระอัตราดอกเบี้ยเงิน TFF เดินตลอด ยังไม่ได้นำมาใช้ดำเนินโครงการเลย ในแง่ของการบริหารงานถือว่าไม่โอเค

รมว.ศักดิ์สยาม ย้ำว่า กรณีที่ต้องปรับแบบในส่วนของ N1 หาก ม.เกษตรฯ ยังคัดค้านการใช้พื้นที่นั้น ก่อนหน้านี้มีหลายทางเลือก การสร้างเป็นอุโมงค์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่คิดไว้ แต่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มถึง 2 หมื่นล้านบาท ต้องนำเรื่องนี้ไปหารือ มก.ด้วย ต้องพิจารณาให้ครบถ้วน และรอบด้าน ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง จะดำเนินการควบคู่ไปในระหว่างที่เตรียมเสนอโครงการ N2 เข้า ครม.

ม.เกษตรฯ ไม่ได้ต่อต้านรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แต่ยืนกรานคัดค้านการก่อสร้างทางด่วนผ่านมหาวิทยาลัย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นรถไฟฟ้าสายใหม่ (สีน้ำตาล) ตีคู่ทางด่วน N2 ช่วงเกษตร-วงแหวนฯ ไปก่อน เนื่องจากไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง