นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน จะเข้าสู่โหมด การเลือกตั้ง นายกเมืองพัทยา ใน วันอาทิตย์ 22 .. 2565 นอกจากจะเป็นวันเดียวกับ การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ยังตรงกับวัน ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 22 .. 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่ามีนัยสำคัญเช่นกัน เพราะการรัฐประหารของ คสช. ส่งผลทำให้ การเลือกตั้งท้องถิ่นพิเศษ ทั้งของเมืองพัทยา และ กทม.ต้องห่างหายไปจะเกือบ 10 ปี

ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ ขอย้อนกลับไปการเลือกตั้ง นายกเมืองพัทยา ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2555 นายอิทธิพล คุณปลื้ม ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็น นายกเมืองพัทยา คนที่ 8 ด้วยคะแนน 21,448 จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 28,724 คน (จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 69,205 คน) หลังจากนั้นเมื่อครบวาระ 4 ปี ไม่ได้เลือกตั้งใหม่ วันที่ 17 มิ.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง นายชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ นายกเมืองพัทยา คนที่ 9 ได้เพียง 8 เดือน กระทั่งวันที่ 16 ก.พ.2560 คสช.ใช้ ม.44 แต่งตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี อดีต รอง ผบช.ภ.2 มาเป็น นายกเมืองพัทยา คนที่ 10 ทำหน้าที่ 1 ปี 7 เดือน จากนั้น วันที่ 25 ก.ย. 2561 แต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล อดีตรมว.วัฒนธรรม, รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และรมว.การท่องเที่ยวฯ ขึ้นเป็น นายกเมืองพัทยา คนที่ 11 มาจนถึงปัจจุบัน

เช็กนโยบาย “4 ผู้สมัคร” ผู้ว่าเมืองพัทยา

ตำแหน่ง นายกเมืองพัทยา ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของเขตปกครองพิเศษและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยา ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จึงค่อนข้างได้รับความสนใจ มีผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกเมืองพัทยา ทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย หมายเลข 1 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จากกลุ่มเรารักพัทยา, หมายเลข 2 นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ อดีตนายอำเภอบางละมุง, หมายเลข 3 นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย จากคณะก้าวหน้า และ หมายเลข 4 นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร กลุ่มพัทยาร่วมใจ น้องชายของนายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา ลำดับที่ 7

หมายเลข 1 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

เมื่อลองสำรวจข้อมูลและนโยบายของผู้สมัครไล่เรียงจาก หมายเลข 1 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ กลุ่มเรารักพัทยา พ่วงดีกรีทั้ง อดีต ส.ส.ชลบุรี, อดีตผู้ช่วย รมว.วัฒนธรรม ชูนโยบายหาเสียง “4 เป้าหมาย 15 นโยบาย” โดยเป้าหมายที่ 1 แก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ การจ้างงาน, เป้าหมายที่ 2 การยกระดับ คุณภาพชีวิตคนพัทยา แก้ปัญหาน้ำท่วม และสิ่งแวดล้อม, เป้าหมายที่ 3 การสานต่อวิสัยทัศน์ “Neo Pattaya” เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยีและปฎิรูปการศึกษาที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ส่วน 15 นโยบายนั้น อาทิ อลังการงานอีเวนต์ สร้างรายได้เข้าสู่เมืองพัทยา กระจายรายได้ทัวร์สู่ชุมชน โครงการต่อเนื่องแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตลาดนาเกลือโฉมใหม่ พื้นที่ค้าขายรายได้ชุมชน พัทยาเมืองนานาชาติ ศูนย์กลาง EEC และขยายโรงรียนต้นแบบ ให้เมืองพัทยาเป็นเมืองการศึกษาระดับชาติ

หมายเลข 2 นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ 

หมายเลข 2 นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ อดีตนายอำเภอบางละมุง เคยได้รับรางวัลนายอำเภอแหวนเพชร ก่อนจะเกษียณอายุราชการในตำแน่งรองอธิบดีกรมการปกครอง ชูสโลแกน “เปลี่ยนแปลง สร้างเมือง ยั่งยืน” มีความตั้งใจที่จะทำให้เมืองพัทยาเป็นเมืองสวย เมืองสุข เมืองปลอดภัย และเป็นเมืองที่มีพี่น้องประชาชนมีคุณภาพทีดี นอกจากนี้จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองรูปแบบปกครองพิเศษ จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะการจัดโซนนิ่งสถานบริการเมืองพัทยาที่ยังล้าหลัง และเรื่องของการเปิดแบบโอเพ่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

หมายเลข 3 นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย

หมายเลข 3 นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย จากคณะก้าวหน้า อดีตหนุ่มธนาคารผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ได้ชู 8 นโยบายหลัก 1.การพัฒนาเมือง ที่จะเน้นลดความเดือดร้อนของประชาชนจากโครงการการจัดทำในปัจจุบัน โดยจะมีการเร่งรัดพร้อมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา, 2.เศรษฐกิจท่องเที่ยว ที่จะเน้นการจัดอีเวนต์ กระตุ้นการท่องเที่ยว, 3.การบริการการจัดการน้ำ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการจัดการปัญหาน้ำเสียในคลองสาธารณะ, 4.นโยบายสิ่งแวดล้อม 5.นโยบายส่งเสริมการศึกษา ที่จะเน้นให้มีอาหารเช้าสำหรับเด็กเพื่อลดค่าใช่จ่าย การบริหารรถรับ-ส่งนักเรียนทุกระดับ, 6.นโยบายสาธารณสุขได้แก่เพิ่มศูนย์ฟอกไต เพิ่มศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง, 7.นโยบายความเท่าเทียม เน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ และ 8.นโยบายรัฐเปิดเผย เน้นเมืองพัทยาต้องโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลทุกด้านให้ประชาชนตรวจสอบ มีส่วนร่วม

หมายเลข 4นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร

หมายเลข 4 นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร กลุ่มพัทยาร่วมใจ ถือว่าเป็นคนเมืองพัทยาโดยกำเนิด อดีตสมาชิกสภาเมืองพัทยา และอดีตนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ใช้สโลแกน “เมืองพัทยาได้รับการปกครองจากคนบ้านเรา” พร้อมทั้งชูนโยบาย แก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับภาคเอกชนและประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวเข้าสู่กระบวนการเรื่องมาตรฐานของสาธารณะสุข เพื่อจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ นอกจากนี้จะเร่งผลักดันการท่องเที่ยวเมืองพัทยาภายใต้การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จะให้การดำเนินการธุรกิจท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้

ยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 78,145 คน

สำหรับ พื้นที่เมืองพัทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มี 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน (ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่) ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางละมุงบางส่วน ส่วน 4 ตำบลประกอบด้วย 1.ต.หนองปรือ ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 5, 6, 9, 10, 11, 12, 13 2.ต.ห้วยใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 4 3.ต.หนองปลาไหล ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 6, 7, 8 และ 4.ต.นาเกลือ พื้นที่ทั้งตำบล หมู่ที่ 1-7 (หมู่ที่ 7 เกาะล้าน) โดยมีอาณาเขตทาง ทิศเหนือ เริ่มจากแนวคลองกระทิงลาย ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลบางละมุงและเขตเทศบาลตำบลหนองปลาไหล ทิศใต้ จดพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลห้วยใหญ่และเขตเทศบาลตำบล นาจอมเทียน ทิศตะวันออก ขนานไปกับถนนสุขุมวิท (ห่างจากถนนสุขุมวิทไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 900 เมตร) ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลหนองปลาไหลและเขตเทศบาลเมืองหนองปรือ และ ทิศตะวันตก ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลไทย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 208.10 ตารางกิโลเมตร (130,062.50 ไร่) แบ่งเป็นพื้นดิน (รวมเกาะล้าน 2,543.75 ไร่) 53.44 ตารางกิโลเมตร (33,400 ไร่) พื้นน้ำ 154.66 ตารางกิโลเมตร (96,662.50 ไร่)

ขณะที่การเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 4 เขต ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 มีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 39 หน่วย มีประชากร 28,068 (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,170 คน), เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้ง 30 หน่วย มีประชากร 28,268 คน (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 16,421 คน), เขตเลือกตั้งที่ 3 หน่วยเลือกตั้ง 38 หน่วย ประชากร 29,028 คน (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 21,030 คน ) และ เขตเลือกตั้งที่ 4 หน่วยเลือกตั้ง 39 หน่วย ประชากร 30,069 คน (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,794 คน) รวมประชากร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 78,145 คน

ชาวบ้านหวังดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมา

ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ พูดคุยกับ ร้อยตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยา รักษาราชการแทนนายกเมืองพัทยา ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เมืองพัทยาห่างเหินจากการเลือกตั้งมาเกือบ 10 ปี จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนชาวเมืองพัทยาจะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกคนที่ตนเองคิดว่าจะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับเมืองพัทยา ตามที่มีนโยบายที่ถูกใจ ตอบสนองกับความต้องการ

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจึงคิดว่ามีความสำคัญมาก เชื่อว่าประชาชนต่างให้ความสำคัญรวมถึงมีความตื่นตัวในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาในครั้งนี้ ส่วนความคาดหวังไว้ในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ตั้งเป้าไว้ว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่าครั้งก่อนที่ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ขณะที่ น.ส.อำพร แก้วแสง นักธุรกิจผู้ประกอบการสถานบันเทิง ภายในถนนวอล์กกิ้งสตรีท พัทยา กล่าวว่า ในมุมมองจากผู้ประกอบการนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมาก ที่จะต้องออกมาใช้สิทธิเลือกผู้สมัครนายกเมืองพัทยา เข้ามาบริหารพัฒนาให้เมืองพัทยากลับมาคึกคักเหมือนเดิม มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกลับเข้ามา เมื่อมีนักท่องเที่ยวแล้วก็จะทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนก็จะได้ฟื้นตัวอีกครั้ง เชื่อว่าถ้าได้นายกเมืองพัทยาคนใหม่มาก็จะมีอะไรใหม่ๆเข้ามาสู่เมืองพัทยาแน่นอน

ด้าน น.ส.นวพร ศรีวิลัยรัตน์ อายุ 29 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า เคยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาแล้ว 1 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ หลังจากไม่ได้เลือกมาถึง 9 ปีกว่า รวมถึงต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งก็มีนายกในใจอยู่แล้ว ก็หวังว่า หากคนที่ตนเองเลือกไป ได้รับตำแหน่งก็อยากจะให้เข้ามาบริหาร ตามนโยบายที่ให้ไว้ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับมาดีเหมือนเดิมด้วย

ในมุมมองของ นายนรงค์ สัตยากุล อายุ 43 ปี ซึ่งก็มีสิทธิเลือกตั้งเปิดเผยว่า ความสำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนในเมืองพัทยาจะได้ใช้สิทธิตัดสินใจหาผู้นำที่จะมาพัฒนาในท้องที่เมืองพัทยา ถือว่านานมากแล้วที่ไม่มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ความคิดทุกคนย่อมแตกต่างกันไป การเลือกตั้งครั้งนี้จำเป็นต้องออกไปเลือกตั้ง เพราะว่าเราจะได้หาคนที่มาจากชาวพัทยา ซึ่งรู้เข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี ที่อยากเข้ามาทำงานพัฒนาให้เมืองพัทยาจริงๆ จะได้พัฒนาพัทยาให้ดีขึ้นก้าวทันกับความเจริญเติบโตในอนาคต.