ในยุคที่ “อาหารดิลิเวอรี่” ได้รับความนิยมสูง ทาง “เครือข่ายลดบริโภคเค็ม” และ “เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” จึงได้ทำการสำรวจว่า อาหารที่ประชาชนนิยมสั่งมารับประทานนั้น เป็นมิตรกับสุขภาพมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะรสหวาน มัน เค็ม ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ (NCD) ซึ่ง รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่าได้ทำการสำรวจภายใต้โครงการข้อมูลความเสี่ยงด้านอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของอาหารพร้อมส่งพร้อมรับประทานยอดนิยมใน กทม. ผ่านแอพพลิเคชั่นปี 2565

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

โดยผลการวิเคราะห์สารอาหารของอาหารจานเดียว 25 รายการ พบปริมาณโซเดียมสูงกว่า 0.6 กรัมต่อมื้อ โดย ส้มตำปูปลาร้า มีโซเดียมสูงที่สุด เฉลี่ย 5 กรัมต่อ 1 จาน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 2 กรัม ต่อวัน ซึ่งหมายความว่าส้มตำปูปลาร้า 1 จาน มีปริมาณความเค็มสูงเกือบ 3 เท่า ของการบริโภคโซเดียมตลอดหนึ่งวัน หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียมสูงมากถึง 8 เท่าต่อ 1 มื้อ อีกทั้งยังพบปริมาณโซเดียมสูงมากเกินกว่า 0.6 กรัมต่อมื้อ ในกาแฟเย็น ซาลาเปาไส้หมูสับ ชิฟฟอนใบเตย และปาท่องโก๋

ส่วนเครื่องดื่มรสหวาน 10 รายการ พบ 8 รายการ มีนํ้าตาลเกินกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 25 กรัมต่อวัน และมีเพียง 2 รายการเท่านั้น คือ อเมริกาโน่เย็น และนํ้าเต้าหู้ที่มีปริมาณนํ้าตาลเฉลี่ยไม่ถึง 16 กรัม ขณะที่ชานํ้าผึ้งมะนาว มีนํ้าตาลเฉลี่ย 53.1 กรัม หรือเกือบ 13 ช้อนชา หากคิดต่อ 1 มื้ออาหาร ควรมีปริมาณนํ้าตาลเฉลี่ยประมาณ 8 กรัมต่อมื้อ

เครื่องดื่มรสหวานเหล่านี้เป็นพลังงานว่างเปล่า หรืออาหารที่แทบจะไม่มีสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ให้พลังงานหรือมีปริมาณแคลอรีที่สามารถทำให้นํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

ไม่เพียงเครื่องดื่มรสวานที่มีปริมาณนํ้าตาลเกินเกณฑ์ที่แนะนำเท่านั้น อาหารจานเดียว เช่น ส้มตำไทย หมูปิ้ง ไข่พะโล้ และของหวานอย่าง ชิฟฟอนใบเตย และไอศกรีมกะทิสด ยังมีปริมาณนํ้าตาลสูงมากต่อมื้อและสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอีกด้วย

 ส่วนเรื่องของ “ไขมัน” องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคไขมันเกิน 30% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน หรือคิดเป็นปริมาณไขมันต่อ 1 มื้อ เฉลี่ยอยู่ที่ 25 กรัมและอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้นทอด มีไขมันเฉลี่ยสูงถึง 67.1 กรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณไขมันสูงเกือบ 3 เท่าต่อมื้อ หรือคิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน

ส่วนหมูปิ้ง 55.6 กรัม คอหมูย่าง 48.6 กรัม มีปริมาณไขมันเกินถึง 2 เท่าต่อมื้อ คิดเป็น 71 เปอร์เซ็นต์ และ 62 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับตลอดทั้งวัน

ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่นำไปทอด จะเป็นไขมันอิ่มตัว ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจตามมา ดังนั้นการแสดงปริมาณสารอาหารโดยเฉพาะเกลือ นํ้าตาลและไขมัน ในรายการอาหารบนแอพพลิเคชั่นอาหารออนไลน์ จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณสารอาหารดังกล่าว นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นอาหารออนไลน์ควรเพิ่มหรือให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในการกรองตัวเลือกเมื่อสั่งซื้ออาหาร เช่น ส้มตำ ควรมีตัวเลือก เกลือน้อย นํ้าตาลน้อย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารโดยคำนึงถึงสุขภาพได้

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง