ทีมงาน “เกียรตินาคินภัทร” ประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจไว้น่าสนใจหลายประเด็นว่าการระบาดในไทยรอบนี้ ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน กว่าความรุนแรงจะลดลง

โดยจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภค การลงทุน ส่งผลไปยังการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จาก 1.5%  เหลือเพียง 0.5% เท่านั้น

เมื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า การแพร่ระบาดอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะถึงจุดสูงสุดภายในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) และค่อย ๆ ปรับลดลงในไตรมาส 4

“เกียรตินาคินภัทร” คาดว่าจากปริมาณวัคซีนที่มีไม่เพียงพอ ล่าช้ากว่าแผน มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง และระยะเวลาที่ต้องทิ้งห่างระหว่างวัคซีนโด๊สแรก กับวัคซีนโด๊สที่ 2 ประมาณ 6-12 สัปดาห์

ดังนั้นภายในปีนี้จะมีเพียง 35% ของจำนวนประชากรจะได้รับวัคซีนครบ 2 โด๊ส ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำมาก เมื่อสัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนครบโด๊สยังน้อย ทางออกที่เหลืออยู่คงเป็นมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยแผนการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างมหาศาลกับเศรษฐกิจไทย จากมาตรการล็อกดาวน์และจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด ไม่มีวัคซีนเพียงพอ และระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น จนทำให้จีดีพีติดลบในปี 64 ได้

ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายเพิ่มเติม ทั้งการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน ปรับปรุงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเป็นระบบ เร่งตรวจหาเชื้อ เร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เตรียมนโยบายเยียวยาประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ปัญหากระแสเงินสด ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยอย่างรุนแรง

หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพียงพอ การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจจะกระทบต่อการจ้างงานและความอยู่รอดของธุรกิจ ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)

หรือแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ สถานะทางการเงินของบริษัทหลายแห่งอ่อนแอกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด เมื่อนับสัดส่วนหนี้ของบริษัทที่มี Interest coverage ratio (ICR) ต่ำกว่า 1 หรือมีกำไรน้อยกว่าภาระดอกเบี้ย ยิ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในรอบนี้ จึงเริ่มกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ที่พัก-ร้านอาหาร และการขนส่ง น่าห่วงในการผิดนัดชำระหนี้เป็นอย่างมาก

ขณะที่นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลคสช. โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กว่า “ไม่อยากเห็นวิกฤติกลายเป็นวิบัติ”

เนื่องจากวิกฤติของไทยวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็น สื่อต่างประเทศและสถาบันการเงินการคลังระหว่างประเทศไม่เข้าใจว่าไทยเกิดวิกฤติอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม ไทยตกต่ำและเละเทะกว่าใครเขาทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีดีพี เรื่องการต่อสู้กับโควิด ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” และเรื่องแนวโน้มประเทศจะไปสู่การวิบัติ จากสภาพคนติดเชื้อโควิดจนโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับ เตาเผาศพก็รับไม่ไหว

แต่รัฐบาลยังมีความพยายามจัดงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จัดหาอุปกรณ์ไว้ใช้ควบคุมฝูงชน แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการไม่ใส่ใจในการป้องกันรักษาชีวิตคนไทย หรือรัฐบาลคิดว่าคนไทยทนรับทุกอย่างได้หรือไง!!.


พยัคฆ์น้อย