เรียกได้ว่าการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา ที่ก่อนหน้านี้ถือเป็นความผิด จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้เจตนารมย์ของกฎหมายจะต้องการนำไปใช้ “ในทางที่ดี” โดยเฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเสริมสร้างรายได้ในทางที่ถูกต้อง แต่การใช้ “ในทางที่ผิด” มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน และยังคงต้องออกกฎหมายขึ้นมาควบคุม

ภายใต้ความเข้าใจว่า “เสรี” จึงยังมีเงื่อนไขการใช้แบบที่ถูก ที่ควร หากฝ่าฝืนก็มีโทษ        

ตามหลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ เปิดโอกาสให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรม

ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตน และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญหาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชง อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภค เพื่อคุ้มครองสุขภาพ

โดยหมวด 10 บัญญัติคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด กำหนดข้อห้ามไม่ให้ขายกัญชา กัญชง เพื่อนำไปบริโภค แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี, หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร และบุคคลอื่นตาม รมว.สาธารณสุข ประกาศกำหนด 

ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับกรณีที่เป็นการขายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายแก่คนไข้ เพื่อประโยชน์ในการบำบัดโรค ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

การผลิต (สกัด) นำเข้า ส่งออก หรือขาย  กำหนดให้ต้องได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การใช้ประโยชน์ในครัวเรือน กำหนดให้ต้องจดแจ้งชัดเจน ซึ่งการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หมายถึง การเพาะปลูกเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกัน แต่ไม่เกินปริมาณที่กำหนดในกระทรวง

พื้นที่ กทม.ต้องจดแจ้งกับผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้แทนที่รับมอบหมาย ส่วนภูมิภาคจดแจ้งกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือผู้แทนที่รับมอบหมาย

เสรีแบบมีกฎเกณฑ์ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาให้ดี เพราะแทนที่จะใช้ประโยชน์อาจกลายเป็นโทษสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะนี้มีข้อกังวลห้วง “สุญญากาศ” ปลดล็อกในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยังไม่แล้วเสร็จ จะทำอย่างไรไม่ให้จุดเริ่มต้นเสรีไปสร้างปัญหาใหม่. 

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]