เหตุการณ์ผ่านไปกระทั่งมีคำตัดสินของศาล พิพากษาให้รับโทษต่างกรรมต่างวาระในแต่ละคน…

ต้องยอมรับว่าการเรียกร้องสิทธิคุ้มครองบุคคลไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อสงสัยเรื่องการซ้อม ทรมาน บังคับสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เพราะคดีดังกล่าวน่าจะเป็นคดีแรกที่ปรากฎหลักฐานชัดอย่างไม่ต้องสงสัย จนปลุกกระแสตื่นตัวของร่างกฎหมายคุ้มครองที่ถึงเวลาต้องคลอดออกมาใช้ซะที

ลองมาดูกันว่าหากถึงวันที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….มีผลบังคับใช้ การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐพฤติกรรมใด มีโทษสูงสุดอย่างไรบ้าง

ตามร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กำหนดบทกำหนดโทษ ดังนี้

ฐานกระทำทรมาน” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

-หากการกระทำทรมาน เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับ อันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

-หากการกระทำทรมาน เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

“ฐานกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย” ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

-หากการกระทำเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับ อันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

-หากการกระทำเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ชีวิต ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

ทั้งนี้ กฎหมายจะเพิ่มอัตราโทษหนักขึ้น หากการกระทำทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกิดขึ้นกับบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี, หญิงตั้งครรภ์, ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุหรือความเจ็บป่วย

การกระทำทั้งหลายกับคนกลุ่มนี้ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง

นอกจากผู้กระทำโดยตรง กฎหมายยังกำหนดโทษถึงผู้เกี่ยวข้องที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

“ผู้ใดสมคบเพื่อการกระทำผิด” ต้องระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

“ผู้สนับสนุนในการกระทำผิด” ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

“ผู้บังคับบัญชา” ที่ไม่ดำเนินการป้องกัน หรือระงับการกระทำผิดอย่างเหมาะสม ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พบว่าในห้วงตั้งแต่ปี 61 จนถึง 65 กสม.รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเกือบร้อยเรื่อง ส่วนใหญ่ถูกกระทำทรมาน หรือทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุม หรือสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ขณะที่สภาพข้อเท็จจริงยังหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายในกระบวนการยุติธรรมด้วย

ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวค้างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา และพบว่ามีหลายประเด็นยังถกเถียงกันไม่ชัดเจนและเป็นข้อกังวล โดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมที่จับตาถึงการแก้ไขใดประเด็นต่าง ๆ ที่อาจทำให้ “หัวใจ” สำคัญไม่ได้นำไปการคุ้มครองอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]