ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้นำเสนอกรณีการใช้กัญชาในเชิงร่วมเตือนให้ระวังไปแล้วตอนหนึ่ง และมาถึงตอนนี้ก็ลองมาดูเรื่องการใช้กัญชากันต่ออีกตอน…โดยโฟกัสที่ “การใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหาร-เครื่องดื่ม”  ซึ่งจะ “ต้องมีองค์ความรู้จึงจะไม่เสี่ยง”…

การ “บริโภคกัญชา…มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มต้องห้าม”

และ “แม้ไม่ใช่กลุ่มต้องห้าม…ก็มีลิมิตที่ต้องรู้”

ยิ่งหากว่าเป็น “สายเขียวสายขาย…ยิ่งต้องรู้!!”

ทั้งนี้ กับประเด็น “กลุ่มต้องห้ามในการบริโภคกัญชา” นั้น…ทาง โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ คือ คุณหมอเบญจวรรณ หมายมั่น ได้เคยให้ข้อมูลผ่านทาง “เดลินิวส์” ไว้ว่า… ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรบริโภคกัญชา ได้แก่ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้ที่มีตับและไตบกพร่อง ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง…

เพราะ…อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี!!

นอกจากนี้กับการที่ใครจะบริโภคกัญชา อย่าง การใช้ “ใบกัญชา” ใส่ในอาหาร นั้น ก็ยังเคยมีการให้ข้อมูลที่พึงตระหนักเอาไว้อีกว่า…ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าใบกัญชาไม่ได้เป็นสมุนไพรที่สามารถรับประทานได้ในทุกเพศทุกวัย!! โดยไม่แนะนำในบุคคลกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ส่วน คนที่ไม่ได้เข้าข่ายต้องห้าม จะบริโภค ก็ควรจะปริมาณน้อย ๆ เพราะ…ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน ปวดหัว …นี่คือผลจากการรับประทานมาก

แพทย์ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมยังขยายความข้อมูลความรู้ในเรื่องกัญชาในส่วนของการบริโภคไว้ว่า… ผลข้างเคียงจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30-60 นาที แต่ควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งอาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง โดยกัญชาจะยังอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 ชั่วโมง แต่อาจอยู่ในร่างกายได้นานกว่านี้หากรับประทานบ่อย ๆ

“คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน จะรับประทาน ควรเริ่มรับประทานในปริมาณน้อย ๆ สักไม่เกินครึ่งใบ ถึง 1 ใบต่อวัน ซึ่งจะมีปริมาณสาร THC ประมาณ 1-2.5 มิลลิกรัม ถ้าได้รับปริมาณที่มากกว่านี้ อาจทำให้เกิดอาการสับสน และเสียการทรงตัวได้” …เป็นคำแนะนำเชิงเตือน รวมถึง… หากมีผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารที่มีใบกัญชา ให้หยุดทันที และดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการมึนเมา และดื่มน้ำตามมาก ๆ หากปากแห้ง-คอแห้ง

ใครจะเป็น “สายเขียวสายเปิบ” ก็ “ตระหนักไว้”

ยิ่ง “สายเขียวสายขาย” นี่ “ต้องยิ่งกว่าตระหนัก”

โดยที่… “ไม่เกินวันละ 5 ใบ!!” ต่อคน …นี่คือ “ลิมิต” ที่มีการแนะนำไว้โดยผู้สันทัดกรณี…ซึ่งในที่นี้หมายความว่าเป็นการรับประทาน อาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสม และก็…จะต้องเป็นการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหารอย่างมีองค์ความรู้ด้วย…มิใช่มโนเอาเอง!! เพราะในใบกัญชามีสารมากกว่า 500 ชนิด โดยสารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชาคือ THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือ สารเมา ซึ่งตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยนั้นกัญชามีรสร้อน และเบื่อเมา…จึงไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก กัญชานั้นช่วยปรับลมให้มีการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ เมื่อใส่เป็นส่วนประกอบในอาหาร ต้ม ยำ ตำ แกง ที่มีเครื่องเทศ จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี โดยการ ใส่รวมกับเครื่องเทศอาจช่วยลดความเบื่อเมา ลงได้

กับการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารนั้น…ก็มีทั้งใช้ “ใบกัญชาสด” อย่างเช่น… ซอยหยาบ ๆ เจียวในน้ำมัน แล้วใส่ผสมลงในน้ำพริกผัด ใส่ผสมลงไปกับส่วนผสมอื่น ๆ ในการทำน้ำซุปของเมนูอาหารต่าง ๆ ชุบแป้งทอดรับประทานกับยำรสจัด ๆ หรือใช้ “น้ำใบกัญชาคั้นสด” สำหรับผสมในเครื่องดื่มสูตรต่าง ๆ ที่ไม่ควรมีแอลกอฮอล์ โดยต่อใบกัญชาสด 5 ใบนั้นในการคั้นน้ำจะใช้น้ำสะอาดเกือบ ๆ 300 มิลลิลิตร แต่ในการใช้ผสมต่อแก้วจะใช้เพียงประมาณ 45 มิลลิลิตร ผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ หรืออาจจะใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารในรูปแบบของ “ใบกัญชาผงบดละเอียด” ที่เหมาะจะผสมในเมนูขนม…

แต่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหนก็ “ต้องมีองค์ความรู้”

ทั้งนี้… “กัญชา” นั้น แม้การ “ใช้ในอาหาร” จะมีภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่นใช้ใบเพื่อช่วยชูรสอาหาร แม้จะมีประวัติการใช้ใบกัญชาในอาหารไทยมายาวนาน มีปรากฏอยู่ในบางตำราแม่ครัวหัวป่าก์ แต่… “กัญชาในอาหารนั้นยังเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน เมื่อจะนำมาสู่สังคมจึงต้องมีการใช้อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยการนำกัญชามาปรุงเป็นเมนูอาหาร เครื่องดื่ม จำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจก่อน เพื่อไม่ให้เกิดโทษต่อผู้บริโภค…” …นี่เป็นอีกส่วนสำคัญจากการ “เน้นเตือน” ไว้จาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยแพทย์แผนไทยประยุกต์

ย้ำซ้ำไว้…สายเขียวสายเปิบ” จะ ต้องตระหนัก”

และ…สายเขียวสายขาย” นั้น ห้ามมโนเอาเอง”

ถ้า “สายเขียวเกินลิมิต”…นี่มีสิทธิ “สู่ขิต-สู่คุก” .