“…ผมได้เรียนหัวหน้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไปว่า ผมพอแล้ว! เพราะได้ทำงานมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ได้มีโอกาสช่วยดูแลดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ได้มีส่วนช่วยพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ยืนยาวสืบเนื่องมาตลอดระยะเวลาที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหน้าที่ จึงขอพอและขอให้ช่วยกันดูแลและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเราให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงต่อไป”

ถ้อยคำบางช่วงบางตอน พล..เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ กล่าวคำอำลาประชาชนผ่านทางโทรทัศน์ ช่วงค่ำวันที่ 5 ส.ค. 2531 หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ มานานกว่า 8 ปี 5 เดือน

นับเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย รายละเอียดต่าง ๆ ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว มีบันทึกข้อมูลเอาไว้ในหนังสือ รัฐบุรุษชื่อ เปรม นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ที่ได้ตัดสินใจประกาศอำลาทางการเมืองเมื่อ 34 ปีที่แล้ว

ป๋าเปรม'บริจาคทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อประโยชน์ประชาชน | เดลินิวส์

ถ้าย้อนกลับไปช่วงวันที่ 29 เม.ย. 2531 พล.อ.เปรม ประกาศยุบสภา ด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เหตุผลหนึ่งว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมือง ยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก”

เมื่อไล่เรียงข้อมูลช่วงนั้นพบว่า รัฐบาล พล.อ.เปรม กำลังได้รับความกดดันหนัก ทั้งจากฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และปัญหาภายในของ 1 ในพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ เกิดความขัดแย้งภายในจนเกิด “กลุ่ม 10 มกรา” โหวตสวนมติรัฐบาลขณะกำลังผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ไปยกมือร่วมกับฝ่ายค้าน แม้ผลการลงมติกฎหมายจะผ่านแต่รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบยื่นใบลาออก ทำให้ พล.อ.เปรม ยุบสภาในวันเดียวกัน (29 เม.ย. 31)

หลังจากยุบสภา จึงได้เลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 ก.ค. 2531 ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคชาติไทย โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยเสียง 87 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคกิจสังคม 54 ที่นั่ง และประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง จากนั้นดึงอีก 2 พรรค อันดับ 4 และ 5 คือ รวมไทย และประชากรไทย มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้ข้อสรุปตรงกันว่าให้แกนนำพรรคเชิญพล.อ.เปรม มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ

เมื่อเจอคำปฏิเสธ “ผมพอแล้ว” ที่กลายเป็นวลีประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกหน้าหนึ่งของประเทศไทย! สุดท้าย พล.อ.ชาติชาย ที่ได้คะแนนเสียงมากอันดับ 1 จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 แต่บริหารประเทศได้ 3 ปีเศษก็ถูกทำรัฐประหาร โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย บิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. (ตำแหน่งขณะนั้น) ยึดอำนาจ ระบุเหตุผลว่า รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง, ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ, รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภาพยายามทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันฯ

สถานการณ์การเมืองไทย จะว่าไปแล้วจากอดีตถึงปัจจุบัน จะผ่านไปกี่ปีกี่ยุคกี่สมัยก็ยังวน ๆ อยู่ในรูปแบบเดิม ๆ แทบไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก นอกจากนี้ ประชาชน ยังเป็นเพียงแค่หมากในกระดานอยู่เสมอถูกใช้เป็นข้ออ้าง ทำเพื่อชาติประชาชน ช่วงชิงอำนาจกันอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

จากอดีตเมื่อ 34 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน บางช่วงบางตอนก็พอจะใกล้ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศมาจะครบ 8 ปีแล้ว ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งกันเองภายในของบางพรรครัฐบาลก็มีมาให้เห็นระยะหนึ่ง ยิ่งใกล้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้นจนต้องจับตาใกล้ชิด

เหนือสิ่งอื่นใดบ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ วิกฤติพลังงาน ทั้งน้ำมันแก๊ส ต่างขยับสูงจนชนเพดาน กำลังบานปลายขยายผลส่งผลกระทบกลายเป็นลูกโซ่ ไปสู่เรื่องปากท้องชาวบ้าน นอกจากข้าวปลาอาหารจะแพงทั้งแผ่นดิน รถขนส่งโดยสารสาธารณะเอกชน เริ่มจะแบกภาระไม่ไหวมีทั้งหยุดกิจการ หยุดบริการ ฯลฯ

เสียงสะท้อนของประชาชนดังขึ้นเรื่อย ๆ 8 ปีพอได้หรือยัง? กับการพิสูจน์ฝีมือผลงานการบริหารประเทศ ยิ่งนับวันแทบจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นอะไรได้เลย จากเคยประกาศเสียงดังฟังชัด จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติให้ดีขึ้น ตอนนี้กลับกลายมาถูกม็อบขับไล่เสียเอง ทำให้ประชาชนเริ่มอยากจะได้ยินคำว่า “ผมพอแล้ว”!!.

————————–
เชิงผา