ความสำเร็จของพื้นที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยพลังของคน 3 วัยมาขับเคลื่อน“ …เป็นบางช่วงบางตอนจากเวทีเสวนา “หนาวนี้ปักหมุด@น้ําหนาว จัดโดยศูนย์พัฒนาการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครซึ่งเป็นโครงการดี ๆ ที่มีแนวคิด เชื่อมต่อ “สถาบันอุดมศึกษา” เข้ากับ “ชุมชน” ด้วยการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้กับชุมชน ซึ่งครั้งนี้ได้นำ  “โนว์ฮาวการจัดการท่องเที่ยว” ลงไปช่วยชาวบ้านใน พื้นที่  อ.น้ําหนาว จ.เพชรบูรณ์ ที่วันนี้ทาง “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวชุมชนในพื้นที่นี้มานำเสนอ…

สาธิต คำเจียกขจร

ชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือ“ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการจัดเวทีระดมสมองแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชาวบ้านกับผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว เพื่อที่จะค้นหา “แนวทาง-กลไก” เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นี้ให้กลายเป็น “หมุดหมายใหม่” ด้านการท่องเที่ยวโดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขามาร่วมให้ความเห็น ได้แก่ ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา ผู้ก่อตั้งตลาดน้ํายามเย็นอัมพวา, จารุเชษฐ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการกองติดตามและประเมินผล ททท., จินตนาภรณ์ จิกิตศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี, บุษราภรณ์ กลางพรหม ประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเชียง จ.อุดรธานี ที่มีดีกรีรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นทางท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวมุมมองใหม่ 2564 และ ผศ.อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร ที่ได้มาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้ชาวชุมชนนี้เห็น “ภาพอนาคต ร่วมกัน

ทั้งนี้ ชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.น้ําหนาว อ.น้ําหนาว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งถือเป็น “พื้นที่เป้าหมาย” ในการผลักดัน การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน” นั้น เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  โดยตั้งแต่อดีตชุมชนนี้ไม่ได้ถูกจัดวางไว้ให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยว” เหมือนกับอีกหลาย ๆ พื้นที่ใน จ.เพชรบูรณ์ แต่ด้วยความที่ชาวชุมชนอยาก “เปิดตัวเอง” เพื่อให้พื้นที่เป็น “แหล่งท่องเที่ยวทางเลือก” จึงพยายามช่วยกันทำให้บ้านห้วยหญ้าเครือแห่งนี้ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยหนึ่งในจุดเด่นที่ชุมชนแห่งนี้มีก็คือ “การเปิดกว้างทางความคิด” และ “ความตื่นตัวที่จะเรียนรู้” ที่ทำให้จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีคนรู้จัก กลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่” ให้กับ อ.น้ําหนาว โดยเบื้องหลังความสำเร็จมาจาก “คน 3 วัย” ที่ทำงานร่วมกัน

ความร่วมมือภายใน-ภายนอกชุมชน

สำหรับประวัติบ้านห้วยหญ้าเครือ ทาง สาธิต คำเจียกขจร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 เล่าว่า “ที่มาของชื่อชุมชน” มาจากนายพรานชื่อ “ทัด คำสิงห์” ที่ได้ออกไปสำรวจป่าตามลำห้วย แล้วพบว่าพื้นที่นี้รกเรื้อไปด้วยพันธุ์ไม้ประเภทเถาวัลย์หลายชนิด จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านห้วยหญ้าเครือ” มาตั้งแต่นั้น และด้วยความที่สภาพที่ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ จึงมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ทำให้ชาวบ้านในชุมชนจึงมองว่า บ้านห้วยหญ้าเครือมีต้นทุนทางธรรมชาติ ที่น่าจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ทุกคนจึงต้องการผลักดันให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยอมรับว่า แม้จะมีต้นทุนที่ดี แต่ชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยว ทำให้ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านเองก็ยังไม่รู้ว่าควรจะเดินไปอย่างไร แต่โชคดีที่ทาง ศูนย์พัฒนาการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หรือ มทร.พระนคร ได้เสนอตัวที่จะเข้ามาช่วยชุมชนในเรื่องนี้ จนที่สุดก็จึงเกิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมา

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญของบ้านห้วยหญ้าเครือ เป็นการระบุไว้บนเวที โดย ราม สิงหโศภิษฐ์ นายอำเภอน้ําหนาว โดยได้มีการขยายความว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะประสบผลสำเร็จได้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางในการช่วยให้ชุมชนนำข้อสรุปจากการพูดคุยไปใช้พัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือโชคดีที่มีกลุ่มคนใจดีอยากเข้ามาช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากชุมชนถอดบทเรียนเรื่องนี้ได้ ก็เชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ ในช่วง “ฤดูหนาว” ที่ใกล้จะมาถึง พื้นที่ อ.น้ําหนาว จะมีบรรยากาศการท่องเที่ยวที่คึกคักมากขึ้น โดยมี “ชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือ” เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญด้วย

“ภูหอ” มองจากบ้านห้วยหญ้าเครือ

’จากเวทีเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านต่างก็เห็นตรงกันว่า ชุมชนนี้มีทรัพยากรที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมาก ๆ เพราะมีทั้ง…น้ําตกถ้ําค้างคาว ลานหินสามสีโคกลาด รอยเท้าทรพี จุดชมวิวภูฮี 360 องศา ที่สามารถมองเห็นได้ทั้ง 3 ภูเขา ได้แก่ ภูกระดึง ภูหอ ภูผาจิต นอกจากนั้น ยังมีภูมิปัญญาที่สามารถนำมาแมตช์กับการท่องเที่ยวได้ เช่น การจักสาน การตีมีด การทอเสื่อกก และเมนูอาหารท้องถิ่น อย่าง…หลามไก่บ้าน แกงสามกล้วย ก้อยเห็ดป่า และขนมหวานที่มีชื่อว่า…หวานหมอกขุ่น“ เป็น “ลิสต์ของดี” ของพื้นที่นี้ ที่นาย อำเภอน้ําหนาวไล่เรียงมาให้ฟัง เพื่อย้ําว่า “บ้านห้วยหญ้าเครือมีศักยภาพ” ที่จะจัด “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ซึ่งน่าจะทำให้ “ชาวบ้านมั่นใจ” ยิ่งขึ้น

นอกจาก “กำลังใจ” แล้ว “มุมมองจากผู้มีประสบการณ์” ก็สำคัญ โดยในเวทีเสวนาที่จัดขึ้น ทางวิทยากรท่านต่าง ๆ ก็ได้มีการสะท้อน พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ ไว้น่าสนใจ เริ่มจาก จารุเชษฐ์ จาก ททท.ที่สะท้อนว่า สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ บางชุมชนที่จัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น จากที่ทำได้ดีในช่วงเริ่มต้น แต่พอมีผลประโยชน์เข้ามา จากที่เคยทำเพื่อส่วนรวม ก็เริ่มมีผลประโยชน์ส่วนตัวซ้อนทับ จนที่สุดการท่องเที่ยวที่ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันมาก็พังไม่เป็นท่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

’ที่อยากเน้นย้ําคือ ส่วนตัวอยากเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาว่า การท่องเที่ยวชุมชนจะก้าวได้อย่างยั่งยืน อันดับแรกคือ ผู้นำชุมชนต้องยุติธรรม โดยต้องบริหารงานอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส รวมถึงเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งถ้าทำได้ การท่องเที่ยวของชุมชนก็จะเข้มแข็งยั่งยืนอย่างแน่นอน“ …เป็นคำแนะนำของวิทยากรจาก ททท.

นั่ง “รถกระแทะ” ชมวิว อีกไฮไลต์ของที่นี่

ขณะที่ ร.ท.พัชโรดม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา ก็ร่วมให้คำแนะนำว่า ต้องหาให้เจอว่าชุมชนเรา “มีดี” อะไร และนำมา “พัฒนาเป็นจุดขาย” โดยถ้าหากชุมชนสามารถวางตำแหน่งของตัวเองได้อย่างชัดเจน จะช่วยด้าน “ภาพจำ” ของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่จะนึกออกว่าชุมชนของเรานั้นมีจุดเด่นอะไร ’อย่างบ้านห้วยหญ้าเครือ ส่วนตัวมองว่า อาจเน้นเรื่องการท่องเที่ยวแนวแคมปิ้ง ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถไปนอนชมดาวภายใต้อ้อมกอดขุนเขา 3 ภู คือ ภูกระดึง ภูหอ และภูผาจิต ที่ตั้งอยู่ล้อมรอบ“ …เป็นตัวอย่างที่คีย์แมนของตลาดน้ํายามเย็นอัมพวาได้ให้คำแนะนำไว้

ส่วน จินตนาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เห็นว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกยุคออนไลน์ ที่ทุกคนล้วนมีโทรศัพท์มือถือ โดยส่วนใหญ่เล่นโซเชียลมีเดียกันแทบทุกคน และจำนวนไม่น้อยก็ซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งตรงจุดนี้ ถ้าชุมชนเข้าใจวิธีการใช้สื่อโซเชียลเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยวสวย ๆ ในชุมชน หรือถ่ายภาพสินค้าให้คนเห็นแล้วอยากซื้อ ก็จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการขาย ช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น …นี่ก็เป็นอีกแนวทางสำหรับชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือ ที่ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ได้เสนอแนะไว้ในเวทีดังกล่าว

และทางด้าน บุษราภรณ์ ประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นทางท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวมุมมองใหม่ 2564 ได้ร่วมแนะนำผ่านการเล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จของชุมชนบ้านเชียงเอาไว้บนเวทีว่า ความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านเชียง

คีย์เวิร์ดอยู่ที่การทำให้คนทุกวัยมีส่วนร่วมในกระบวนการการจัดการท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มต้น” เริ่มจากการนำเด็ก ๆ มาร่วมในด้านการแสดง หรือให้ช่วยทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยประจำชุมชน เพื่อคอยแนะนำแหล่งท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนนำภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่มาใช้เป็นฐานความรู้ และดึงเอาคนวัยหนุ่มสาว ที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีและการใช้สื่อ มาช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ …วิทยากรจากชุมชนบ้านเชียงบอกเล่าเบื้องหลังความสำเร็จ เพื่อให้ชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือนำไปใช้เป็นแนวทาง

ทดลองจัดกิจกรรมเพื่อเก็บข้อมูลมาปรับปรุง

นอกจากนั้น ในส่วนของ จารุเชษฐ์ กับ ร.ท.พัชโรดม ต่างก็เห็นพ้องตรงกันเรื่อง “คีย์แมสเสจที่จะทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนสำเร็จ” ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องขึ้นกับ “ความร่วมมือของคน 3 วัย” ที่ชุมชนจะต้องดึงให้คนทั้ง 3 กลุ่มนี้เข้ามาทำงานร่วมกันให้ได้ ได้แก่ ผู้อาวุโส ที่แม้คนกลุ่มนี้เรี่ยวแรงจะถดถอยไปบ้างตามวัย แต่สามารถเป็น “คลังสมองของชุมชน” ได้, คนหนุ่มสาว ที่จะเป็น “มดงานสำคัญ” จะเป็นกลไกคอยขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชน อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังมีจุดเด่นในการใช้เทคโนโลยี ทำให้ช่วยได้มากในเรื่องของการผลิตสื่อหรือสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อเผยแพร่เรื่องราวและจุดขายของชุมชน อีกกลุ่มคือ เด็กและเยาวชน ที่ต้องดึงเข้ามาเพื่อให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมกับชุมชน ด้วยการเริ่มต้นจากการเป็น “ลูกมือคนทำงานหลัก” ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ ซึมซับความรู้เกี่ยวกับชุมชน จนเกิดสำนึกรักบ้านเกิด ตลอดจนเกิดความหวงแหนในทรัพยากรและของดีที่ชุมชนของตนเองมีอยู่ 

นี่เป็นเรื่องราว “ความมุ่งมั่นตั้งใจ” ของ ชาวชุมชน “บ้านห้วยหญ้าเครือ” ต.น้ําหนาว อ.น้ําหนาว จ.เพชรบูรณ์ ชุมชนเล็ก ๆ ที่อยากเปิดตัวสู่สายตานักท่องเที่ยวในฐานะ “แหล่งท่องเที่ยวทางเลือกแห่งใหม่” ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากภาควิชาการ คือ มทร.พระนคร ที่เห็นความตั้งใจของชาวชุมชน จึงเข้ามาช่วย “ต่อจิ๊กซอว์ เรื่องนี้จนทำให้ชาวบ้านที่นี่ยิ่งมีกำลังใจว่าถึงแม้หนทางข้างหน้าอาจจะดูยาก…แต่ก็ไม่น่าจะเกินความพยายาม โดยที่…นอกจากจะมีต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติและภูมิทัศน์ที่สวยงามเป็นจุดขายแล้ว กับ “จุดเด่นชุมชน” ที่มีการ “เปิดกว้าง-ตื่นตัว” ในการพยายาม “หาความรู้มาเติมเต็ม” นี่ก็เป็นแนวคิดน่าสนใจ ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้อีกหลาย ๆ พื้นที่ได้…ในฐานะอีกกรณีศึกษา’วิถีชุมชนท่องเที่ยว“ ที่…

’วิถีชาวชุมชนมุ่งมั่นร่วมปั้นให้แจ้งเกิด“.

‘ถอดบทเรียน’ จาก ‘อดีตทางผ่าน’

เวทีเสวนาถอดบทเรียน

วิทยากรที่รับเชิญมาร่วมถ่ายทอดมุมมองเพื่อช่วย “ชาวชุมชนบ้านห้วยหญ้าเครือ“ นั้น ยังรวมถึง บดินทร์ เรืองสุขศรีวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วย ซึ่งบุรีรัมย์นั้นเคยเป็นจังหวัดที่เป็นแค่ทางผ่านสู่จังหวัดอื่น ๆ แต่เมื่อมีการ “สร้างจุดขาย” ผ่าน “กิจกรรมกีฬา” ทำให้บุรีรัมย์สามารถพลิกภาพจำในอดีต จนกลายเป็นอีกจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนไม่ใช่น้อย ๆ ในแต่ละปี ซึ่งทาง บดินทร์ ได้ “ถอดบทเรียน” เรื่องนี้ให้ฟังว่า ประการแรก ต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประการต่อมาคือ ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งเอกชนและภาครัฐ เพื่อที่จะช่วยให้มองเห็นจุดขายมากขึ้น ขณะที่ในเรื่องของ การลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว นั้น กรณีนี้ทางประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบุรีรัมย์ ได้ฝากแง่คิดไว้ว่า ’เรื่องการลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนี้เป็นอีกเรื่องที่มีหลายคนถามกันมาก ๆ ซึ่งสำหรับตัวเองแล้ว ที่อยากแนะนำก็จะมี 2 แนวทาง นั่นคือ ถ้ามีเงินทุนสูง ก็ให้สร้างจุดใหญ่ แต่ถ้าทุนน้อย ก็ให้ค่อย ๆ สร้างจุดเล็ก ๆ แต่ให้อยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ จะดีที่สุด“.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน