ผู้โดยสารร้องระงมกันมานานกี่ปีแล้ว? กับปัญหารถเมล์เมืองกรุง เสียงร้องซาลงในช่วงโควิด-19 เนื่องจากผู้คนลดเดินทาง กลับมาวิกฤติอีกครั้งในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้วยโควิดคลี่คลาย การเดินทางเข้าสู่ปกติ แต่จำนวนรถเมล์ไม่ปกติ รถเอกชนหลายสายหยุดกิจการจากพิษเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 ส่วนรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลายเส้นทางถูกปฏิรูปให้เอกชนเดินรถแทน ที่เปิดให้แข่งขัน ขสมก.ก็แพ้เพราะไม่มีรถใหม่ไปสู้ แต่ผู้ประกอบการรายใหม่ก็ไม่ได้บรรจุรถตามเงื่อนไข รวมทั้งกั๊กรถไว้นานๆ ปล่อยคันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

เสียงร้องเรียนของผู้โดยสาร กลายเป็นกระแสสังคมกดดันจากทั้งโลกโซเชียลและสื่อกระแสหลัก อัดยับ ขสมก.และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สนิมเขรอะไม่แอคทีฟบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ในที่สุดพลังจากสังคมก็ทำให้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารขบ. ผู้บริหาร ขสมก. ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ไขปัญหา

กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ย้ำความเดือดร้อนจากผลสำรวจเรื่อง “ความเดือดร้อนของประชาชน ต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย” ประชาชนส่วนใหญ่ 89.2% พบปัญหารถขาดระยะ ต้องรอรถนาน รองลงมา 44.4% รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และ 35.5% รถเก่า/ชำรุด/สกปรก ผลกระทบที่ประชาชนได้รับ 75.4% ปัญหารถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทาง คือ ไปเรียน/ทำงานสาย/ถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด 61.4% ต้องใช้บริการขนส่งทางอื่น ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย 37.3% ต้องต่อรถเมล์หลายสาย จากเดิมนั่งสายเดียวถึง 77.3% ไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลยว่าขสมก.จะแก้ปัญหาการให้บริการรถเมล์ที่เกิดขึ้นภายใน 15 วัน พร้อมฝากถามผู้บริหาร ขสมก. และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดย 56.9% มีรถเมล์ให้บริการครอบคลุมทุกเส้นทางได้หรือไม่เพื่อคำนึงถึงผู้มีรายได้น้อย 53.2% ทำไมรถเมล์ถึงมีให้บริการน้อย และ 51.0% ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากปัญหารถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทางนานแค่ไหน??

นอกจากปัญหาสุดเซ็ง!! ที่ต้องคอยรถเมล์นานแล้ว ผู้โดยสารและประชาชนยังงงไม่หาย!! สับสนแล้วสับสนอีกกับการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ครั้งล่าสุด หลังจากเคยเปลี่ยนเลขสายมาแล้วในช่วงเริ่มปฏิรูปเส้นทางรถเมล์เมื่อปี 60 ใน 8 เส้นทางนำร่องปฏิรูป โดยขณะนั้นใช้ทั้งภาษาอังกฤษแบ่งโซนและตัวเลข ผลสะท้อนจากประชาชนขอให้ยกเลิกปฏิรูปเส้นทาง เพราะทำให้เกิดความสับสน ขณะที่รายได้ของ ขสมก.ก็ลดลง

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. บอกว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาโดยปรับแผนการเดินรถใหม่ เช่น เกลี่ยรถในเส้นทางในช่วงเวลาที่ใช้บริการน้อย อาทิ ช่วงกลางวันและช่วงบ่าย มาให้บริการช่วงเย็นและค่ำ เพื่อรองรับการใช้บริการผู้โดยสารได้มากขึ้น ลดปัญหาคอยนาน รวมทั้งตัดรถเสริมในเส้นทางระยะไกล แผนใหม่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มทดลองนำแผนไปใช้ โดยเฉพาะเส้นทางวิกฤติ 27 เส้นทาง จาก 107 เส้นทางเดินรถ แนวโน้มดีมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น สาย 18 ตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระยะทาง 24 กม. มีรถเมล์ธรรมดา (รถร้อน) ให้บริการ 25 คัน ก่อนปรับแผนมีผู้ใช้บริการ 7,600 คนต่อวัน 68-80 เที่ยววิ่งต่อวัน ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 9,200 คนต่อวัน 90-107 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้ได้ติดตั้งคิวอาร์โค้ด (QR Code) บนรถเมล์ทุกคัน เพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการให้บริการ พร้อมประเมินผลทุกวัน

ปัจจุบันมีรถเมล์ ขสมก.ให้บริการ 2,885 คัน เป็นรถเมล์ร้อน 1,520 คัน อายุใช้งาน 30 ปี รถเมล์แอร์ครีมน้ำเงิน 179 คัน อายุใช้งาน 22-27 คัน รถเมล์แอร์ยูโรทูสีเหลือง-ส้ม 699 คัน อายุใช้งาน 20-23 ปี และ รถเมล์เอ็นจีวี 487 คัน อายุใช้งานไม่เกิน 4 ปี ในจำนวนทั้งหมดให้บริการกะสว่างไม่ต่ำกว่า 1 พันคัน ก่อนโควิด-19 ขสมก. มีผู้โดยสาร 800,000-900,000 คนต่อวัน ประมาณ 19,000 เที่ยว ช่วงโควิดระบาดมากขึ้นผู้โดยสาร 200,000-400,000 คนต่อวัน 17,000 เที่ยว ขณะนี้กลับมาที่ 700,000 คนต่อวัน 19,000 เที่ยว (น้อยกว่าก่อนโควิด16%) ส่วนการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ เป็นนโยบายของ ขบ.

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า การปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ศึกษาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่ปี 60 เลขสายรถเมล์แบ่งเป็น 4 โซน ใช้หลักการแบ่งพื้นที่เดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพฯ คือ เลขแรกเป็นเลขโซน และตัวเลขหลังเป็นเลขสาย เพื่อทำให้ทราบว่ารถเมล์สายนี้มีต้นทางอยู่พื้นที่ใด ถนนสายใด เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม แม้ไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะทราบว่าจะเดินทางจากที่ไหนไปที่ไหน ต้องขึ้นรถเมล์ในโซนใดหรือสายใด แตกต่างจากหมายเลขสายรถเดิมที่เรียงตัวเลขสายไปเรื่อยๆ เมื่อมีเส้นทางใหม่ก็เพิ่มตัวเลขเข้าไป

ช่วงการเปลี่ยนผ่านปฏิรูปเส้นทางนี้ เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ใช้บริการ กรมฯมอบหมาย ขสมก.และรถเอกชน ใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับหน้ารถไว้ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ประชาชนทราบแนวเส้นทางต่างๆ ในการเดินทาง จนกว่าจะเกิดความคุ้นเคย โดยกรมฯ ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ถ้ายินดีรับฟังข้อเสนอแนะ เสียงประชาชนสะท้อนชัดแล้วชัดอีก เลิกเถอะ!! เอาเวลาเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ที่ทำให้ประชาชนสับสน ลงพื้นที่ดูปัญหาจริงๆ ไม่ต้องรอให้สั่งหรือถูกโวย รวมทั้งใช้เวลาเร่งปรับปรุงพัฒนาบริการให้ดีขึ้นๆ เพราะปฏิรูปเส้นทางรถเมล์มาแล้ว 5 ปี มีแต่แย่ลงๆ หรือถ้าดีขึ้นตรงไหน ช่วยเอาปากกามาวง

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง