ภายหลังจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาพูดเผยถึงแนวทางการจัดระเบียบ “สายสื่อสาร”ในพื้นที่กรุงเทพมหานครลงสู่ใต้ดิน ซึ่งถือเป็น1 ในนโยบาย กรุงเทพฯ “9ดี นโยบาย9มิติ” ที่ได้ใช้หาเสียงเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า คนกรุงเทพฯจะได้ทางเดินเท้าที่ปลอดภัยและมีทัศนียภาพที่ดีขึ้น ปลอดสายสื่อสารไร้ระเบียบ โดยสายสื่อสารต่างๆที่อยู่บนเสาไฟฟ้าแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลัก 1. สายไฟ อยู่ระดับสูงสุดเรียงตัวค่อนข้างเป็นระเบียบ 2. สายสื่อสาร สายกลุ่มที่อยู่ระดับต่ำลงมา มักไม่มีระเบียบ บางจุดตกลงมาถึงพื้นและเคยปรากฏเป็นข่าวเกิดเหตุไฟไหม้หลายครั้ง

เมื่อผู้ว่าฯชัชชาติ ได้เข้ามาบริหารกรุงเทพมหานคร มาได้ 1เดือนจึงได้มอบหมายให้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ดำเนินการประชุมหาแนวทางในการจัดการเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา กทม.ก็ได้ประชุมหารือกับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จากการประชุมพบว่า “ท่อโครงข่ายสายสื่อสารใต้ดิน” ที่ บมจ.โทรคมนาคมฯมีอยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์จากช่องทางที่มีอยู่ เพื่อนำสายสื่อสารลงดินให้ได้มากที่สุด โดยให้คณะทำงานหารือพร้อมเร่งสรุปแผนภายใน 1 สัปดาห์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตามในการหารือเบื้องต้น พบว่ามี 4 กลุ่มที่ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 บริเวณที่การไฟฟ้านำเสาไฟฟ้าออกจากพื้นที่และนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว บริเวณดังกล่าวก็ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เนื่องจากไม่มีเสาไฟฟ้าแล้ว หรือเรียกว่าภาคบังคับ แต่ต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งจุดนี้ต้องรีบดำเนินการ กลุ่มที่ 2 บริเวณที่การไฟฟ้ายังไม่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ผู้ประกอบการยังเดินสายบนเสาไฟฟ้า จุดนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หากบริเวณใดที่มีท่อของ NT อยู่แล้ว ต้องขอให้นำสายสื่อสารลงดิน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ก็จะคิดให้ต่ำที่สุด เนื่องจาก NT มีท่อเดิมไม่ต้องก่อสร้างใหม่ ค่าใช้จ่ายรวมในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินก็จะถูกลง

กลุ่มที่ 3 บริเวณที่ต้องจัดระเบียบ แต่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ ในกรณีที่กรุงเทพฯ จะทำการปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าว จะทำการวางท่อสายสื่อสารเพื่อรองรับไว้เลย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และ กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความพยายาม เนื่องจากอยู่ในถนน ตรอกซอย ยังไม่มีท่อสายสื่อสารกลาง ซึ่งได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมาแชร์ค่าใช้จ่ายกันในการนำสายสื่อสารลงดิน โดยเบื้องต้น NT เสนอว่า พร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการประสานกับผู้ประกอบการ

กระทั่งมาเกิดปัญหาเพลิงไหม้ช่วงเวลาใกล้เคียงกันในพื้นที่กรุงเทพฯ เหตุแรกวันที่ 20 มิ.ย. ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่พัฒนา แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เบื้องต้นพบว่าส่วนหนึ่งต้นเพลิงมาจากสายไฟฟ้าในชุมชนชำรุด ขาดการบำรุงรักษา ทำให้เกิดไฟช็อต ถัดมาวันที่ 26 มิ.ย. เกิดเพลิงไหม้บริเวณอาคารพาณิชย์ ย่านสำเพ็ง เบื้องต้นพบว่า3ปัจจัยหลัก คือ 1.หม้อแปลงไฟฟ้าเก่าที่ตั้งอยู่บนเสาริมถนนหน้าอาคารพาณิชย์ 2.สายสื่อสารติดไฟ และ 3.ภายในอาคารมีเชื้อเพลิง เช่น พลาสติกจำนวนมากทำไฟลุกลามเร็วขึ้น จากเหตุไฟไหม้ทั้ง 2 ครั้ง จึงนำมาสู่การหาแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 28 มิ.ย. โดยกทม.หารือความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้านครหลวง และ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการจัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ไฟฟ้าช็อต และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส พร้อมด้วย บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือNT เตรียมเข้าพูดคุยกับนายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ถึงเรื่องการบริหารจัดการสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การไฟฟ้านครหลวง ได้ดำเนินโครงการนำระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดินในหลายเส้นทางภายใต้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเส้นทางที่มีความจำเป็น คัดเลือกตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า สาธารณูปโภคสำคัญ แนวถนนสายหลัก และบริเวณย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น และมีการเติบโตของความต้องการไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว โดยโครงการครั้งแรกบนถนนสีลม มาตั้งแต่ปี 2527 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ตามมติของ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดีอี) และ มติคณะรัฐมนตรี ให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ เมื่อปี2562 ซึ่งกทม.ได้ประชุมหารือกับ กสทช. และได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการส่งเสริมพัฒนาและกำหนดแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง กทม. และกสทช.ด้วย และได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของ กทม. เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างและวางท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ ลงใต้ดิน รวม 2,450 กม. ให้แล้วเสร็จโดยไม่กระทบผิวจราจร

โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 4 พื้นที่ และเริ่มดำเนินการพร้อมกัน พื้นที่ 1 กรุงเทพฯเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กม.นำร่องที่ถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 – ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กม. พื้นที่ 2กรุงเทพฯตะวันออก ระยะทาง 605 กม. นำร่องถนนรัชดาภิเษก จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ รวม 1.95 กม. พื้นที่ 3 กรุงธนฯเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กม. นำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กม. และ พื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครระยะทาง 620 กม.นำร่อง ถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กม.

ปัจจุบัน การก่อสร้างท่อร้อยสายในพื้นที่นำร่องระยะทางรวมประมาณ7.252 กม.ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยรอผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้สนใจยื่นความจำนงเช่าท่อร้อยสายสื่อสาร(ไมโครดัก) และดาร์คไฟเบอร์ ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ (จากแผนคือ 2,450กม.)