ก่อนอื่น ก็ขอพีอาร์ให้งานประชาสัมพันธ์ของ กทม. เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นกิจกรรมให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ฟื้นเมือง ฟื้นเศรษฐกิจ ว่า ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 14 ธ.ค.65 จะมีการจัดกิจกรรมครบรอบวันเกิด กทม. ซึ่งหมายถึงวันที่กำหนดให้กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปกครองแบบพิเศษ ..เขาจะเรียกพื้นที่ว่ากรุงเทพมหานคร แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลจะเรียกว่า กทม. ( Bangkok Metropolitan Administration : BMA ) ซึ่งมีการสถาปนา กทม. ขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ปี 2565 นี้จึงถือเป็นปีครบรอบ 50 ปี กทม. ไม่เกี่ยวกับเรื่องการตั้งกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยแต่อย่างใด

อ.ทริป  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ก็พีอาร์ว่า มีกิจกรรมมากมายสามารถดูได้ทางเว็บไซต์ www.50ปีกทม.com หรือ www.50thbma.com ซึ่งจะมีกิจกรรมจนถึงวันครบรอบวันเกิด กทม. ในวันที่ 14 ธ.ค. 65  หลายอย่าง อาทิ การประกวดภาพถ่ายกรุงเทพฯ เปิดโหวตชิงรางวัล  การเรียนรู้เรื่องเมืองและการพัฒนา กทม.ร่วมกันผ่านทริปท่องเที่ยว ล่องเรือในคลอง การแนะนำของดีเมนูเด็ดจากทั่วตรอกซอยในกรุงเทพฯ การร่วมเป็นจิตอาสาเสริมสร้างคุณค่าให้ผู้สูงอายุ เป็นต้น ในสัปดาห์นี้จะเปิด แอพพลิเคชั่นปลูกต้นไม้ มีภาคเอกชนและประชาชน แสดงความจำนงร่วมปลูกต้นไม้แล้วกว่า 1.3 ล้านต้น  และจะผลักดันนโยบายกรุงเทพฯ 15 นาที ด้วยการจัดให้มีสวนหย่อมย่อยๆกระจายทั่วกรุงให้เดินถึงกันได้ใน 15 นาที

นอกจากนี้ อ.ทริป บอกว่า มีแนวคิดวิ่งตามเมือง  คือจัดการทางเท้า  ริมทาง ระยะทาง 500 กม. ต้องปรับปรุงให้ดี ทั้งวิวทิวทัศน์ มีห้องน้ำ โดยจะเริ่มทำ 10 กม.แรกที่ต้องวิ่งและเดินได้ ต่อไปกรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่เดินได้สะดวก  มีร่มเงา กิจการร้านค้าจะขายดี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจากการที่วันที่ 3 ก.ค. อ.ทริปไปวิ่งที่สวนรถไฟ ก็มีคนมาวิ่งที่สวน บอกว่าอยากได้ล็อคเกอร์ ที่อาบน้ำ  ผู้ว่าฯ ก็บอกว่าจะจัดให้..แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องคิดเรื่องจิตสำนึกในการใช้พื้นที่สาธารณะกันด้วย ไม่ใช่สร้างให้แล้วก็มีข่าวไปแอบใช้เป็นที่ร่วมเพศกันให้คนด่ากันขรมอีก

ชัชชาติ”เคาะ3สิ่งแรกที่ต้องทำทันที ถกขรก.-จัดลำดับปัญหา-แก้ปากท้องปชช. |  เดลินิวส์

ตอนนี้ ที่ อ.ทริปจะสะสางให้แล้วเสร็จคือเรื่องการ นำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งเขาก็ทยอยทำกันมาเรื่อยๆ แต่จะเร่งแล้ว เรื่องนี้ “รมต.โอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอีเอส ) บอกว่า รัฐบาลก็ทำมาโดยตลอด เช่น ที่เกาะรัตนโกสินทร์ สุขุมวิทตั้งแต่ซอย 1-77 แต่การจะทำให้เสร็จทั้งกรุงเทพฯ มันต้องใช้เวลา และงบประมาณมหาศาล ซึ่ง ดีอีเอส กรุงเทพธนาคม และ กทม. ก็จะนัดคุยกันถึงแนวทาง

นักข่าวก็ไปถาม รมต.โอ๋ ว่า กระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” จะทำให้การเมืองใหญ่ต้องขยับตามการทำงานของผู้ว่าฯกทม. หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ทางเราก็ทำงานของเรา แต่ต้องยอมรับว่าทางนายกฯ คณะรัฐมนตรี รวมถึงศูนย์ราชการต่างๆที่ทำงานก็อาจจะประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารไม่ได้เก่งเท่านายชัชชาติ  เขาอาจจะมีการชำนาญในเรื่องของการสื่อสาร แต่เราก็จะปรับปรุงในการประชาสัมพันธ์ให้ดีขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปบ้าง  ถ้าประชาชนมีปัญหา หรือมีความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆขอให้ติดต่อผ่านช่องทางต่างๆที่เรามี ( เช่น ปณ. หรือสายด่วน 1111 ไทยคู่ฟ้า )  เราจะได้ลงไปดูแล แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลอาจจะประชาสัมพันธ์สู้นายชัชชาติไม่ได้

ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ( และฝ่ายไม่ชอบรัฐบาลก็อาจมองว่าน่าชวนหัวด้วย ) เรื่องพูดว่ารัฐบาลสื่อสารไม่เก่งเท่านายชัชชาติ มีเสียงวิญญาณที่ไหนไม่รู้ ลอยตามลมมาว่า “ก็เลือกใช้แต่พวกพ้องตัวเอง ไม่ใช้คนเก่ง มันก็ไม่ได้เรื่องอย่างนี้แหละ” พอถามวิญญาณว่าหมายถึงอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า “ เสธ.ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด คนกันเองเนี่ย เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ใช่ไหม ทำไมไม่เห็นทำผลงานให้รัฐบาลดูดีบ้าง เป็นคนอื่นคงโดนปลดไปแล้ว”

เอาจริง กลยุทธ์ในการสื่อสารมันมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่  มีตั้งหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง ทั้งการสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกของผู้สื่อสารที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะระยะหนึ่งจนเป็นบุคลิกที่ดูเป็นของจริง ฉลาดจริง รับฟังผู้อื่นแล้วตอบโต้ได้ รุกเป็น ประนีประนอมเป็น สามารถพูดคำคมๆ ได้ ไม่ใช่ลักษณะการบอกให้เชื่อแบบแห้งๆ หรือทวงบุญคุณ ความรู้ก็ต้องเท่าทันโลกสมัยใหม่ เห็นปัญหาแล้วอธิบายทางแก้ได้แบบไม่ใช่ให้แก้แบบกำปั้นทุบดิน อย่าง “ไอ้นี่ขาดตลาดก็กินไอ้นี่แทน” สร้างภาพความฝันที่น่าเชื่อถือว่า ถ้าเราร่วมมือกันแล้ว การใช้ชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร

แล้วถ้าเป็นเรื่องการหวังผลทางการเมือง ก็ไม่ค่อยอยากจะว่ากรมประชาสัมพันธ์ ( แต่ก็คาบเกี่ยวกันบ้างล่ะ ถ้างานกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ดีนัก ภาพลักษณ์ของพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ก็แย่ตาม ) มันขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ผลงานของพรรคตัวเอง มีผลงานชัดก็พูดได้ชัด อย่างภูมิใจไทยก็พูดเรื่องเสรีกัญชา พลังประชารัฐ ( พปชร.) ก็พูดเรื่องบัตรคนจน โครงการคนละครึ่ง พลังท้องถิ่นไทก็ชัดเจนเรื่องส่งเสริมนโยบายคาสิโนหาเงินเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ แม้แต่บิ๊กป้อมเองก็ยังยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของ พปชร. แย่ จำเป็นต้องปรับปรุงการสื่อสาร ซึ่งนี่เอาจริงคือนึกไม่ออกเลยว่า “คนในพรรค พปชร.ภาพลักษณ์ดี เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่มีใครบ้าง” ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นมาดามเดียร์ นางวทันยา บุนนาค ดูสวย ภาพลักษณ์ดี พูดจาฉลาด ส.ส.ที่พยายามทำพื้นที่ สร้างภาพลักษณ์ดีๆ ก็อย่าง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กรุงเทพ ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ  ซึ่งกระแสเสรีนิยมให้ความสำคัญมาก  

แต่มันไม่ได้ช่วยในภาพลักษณ์ของพรรค พปชร.โดยภาพรวม เคยถามพวกติดตามการเมืองว่า “มองภาพ พปชร.อย่างไร” คำตอบคือเป็น พรรคที่ทหารคุมนักการเมืองที่มาจากหลายมุ้ง แต่ละมุ้งก็ต่อรองผลประโยชน์กัน ไม่ใช่พรรคที่มีเอกภาพ มันอารมณ์ประมาณเล่นการเมืองแบบเก่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แถมแบ่งผลประโยชน์กันอีกไหนโควตานักการเมือง ไหนโควตาทหาร ( คสช.) ซื้ออาวุธทีก็โดนหาเรื่องให้จับผิดได้บ่อยๆ  

รัฐบาลนี้โชคร้ายตรงโดนโจมตีทั้งเรื่องโควิด ทั้งเรื่องของแพงเพราะสงคราม การสื่อสารดันไม่มีศิลปะอีก และส่วนหนึ่งเพราะแกนนำรัฐบาล“ไม่ได้เป็นที่รัก” ที่เมื่อพูดอะไรแล้วมีคนพร้อมจะทำความเข้าใจและร่วมมือ อย่างตัวบิ๊กตู่เองเวลาพูดปาฐกถาอะไรก็ยาวเยิ่นเย้อ เรื่อยเจื้อย บิ๊กป้อมเองก็ตอบแต่ไม่รู้ๆๆ ..เช่นนี้แล้วมีผลให้คนอยากเปลี่ยนคณะผู้บริหารประเทศเสียใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ พปชร. ก็ไม่อยากเสียอำนาจ ก็เลยต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารดึงคะแนนนิยม โดยการวางแผนจัดโร้ดโชว์ผลงานของรัฐบาล 10 ภาค ( แบ่งตามเกณฑ์พรรค ) เริ่มวันที่ 10 ก.ค. ที่ชลบุรีภาคแรก โดยมีเสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานคนใกล้ชิดบิ๊กตู่เป็นแม่งาน     

ถ้าเกณฑ์คนมาดู ก็ถือว่า “ยัยเยียด” และไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเรื่องการทำให้พรรคมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ถ้าทีมประชาสัมพันธ์พรรค ทีมโฆษกพรรคไม่ค่อยได้ดั่งใจ พรรคก็ลองจ้างบริษัทเอกชนออกแบบการสื่อสารดูหรือไม่ ..แต่เคยไปถามบริษัทเอกชนบางแห่งว่า จะสร้างภาพลักษณ์ พปชร.อย่างไร เขาส่ายหัว บอกว่า “ภาพลักษณ์ที่ดีมันย่อมเกิดจากเนื้อในที่ดีก่อน” ปัญหาในพรรคมีมากจนไม่รู้จะเริ่มสร้างภาพตรงไหนก่อน  ยิ่งในยุคที่คนตั้งแต่ GEN X ลงไป เข้าถึงสื่อง่าย มีโอกาสสื่อสารสองทางตามแพลทฟอร์มต่างๆ เขาก็แลกเปลี่ยนความคิดและหาข้อมูลที่เป็นกระแสสมัยใหม่ได้  แต่ระดับผู้บริหารใน พปชร.ยังคิดแบบเบบี้บูมอยู่เลย …ความคิดมันก็ไปกันไม่ได้

ถ้าอยากกลับมาเป็นรัฐบาล โจทย์คือ “จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าประเทศชาติจะดีขึ้นถ้าเลือก พปชร.ได้อย่างไร” ถ้าตั้งเงื่อนไขดักว่า อย่าขายเรื่องสานต่อนโยบายเดิม เช่น บัตรคนจน คนละครึ่ง ..ตอนนี้นโยบายใหม่ที่เห็นแล้วว้าวมากของ พปชร.จะมีอะไรบ้าง ? ซึ่งก็ควรเริ่มทยอยทำให้รู้กันได้แล้ว ( อย่างที่พรรคอื่นเขาเริ่มทำแล้ว )  และแจกแจงที่มาของเงินได้ เพื่อรับประกันว่าทำได้จริง ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อไปก่อนแล้วถึงเวลาบอกไม่มีเงิน หรือใส่หมายเหตุไว้ตัวนิดเดียวว่า กระบวนการดำเนินการเป็นขั้นบันไดต้องใช้เวลา

หรือมีอีกกรณีหนึ่งคือ “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” นายกฯ ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดอะไรสักอย่างแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ประชาชนพอใจอย่างมาก ไม่มีผลกระทบระยะยาวตามมา ก็ใช้สร้างภาพลักษณ์ได้ ตัวอย่างก็เช่นนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ปทุมธานีหรือผู้ว่าฯ หมูป่า ที่กลายเป็นที่นิยมเพราะการทำงานเฉพาะหน้าเก่ง  ..แต่สำหรับบิ๊กตู่แล้ว ยังนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรเป็นสถานการณ์สร้างวีรบุรุษได้บ้าง ..ยิ่งถ้าต้องต่อรอง รอมชอมกับกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรค หรือกับนายทุน ซึ่งการเมืองกับทุนเป็นของคู่กันเสมอ

การเปลี่ยนภาพลักษณ์คือการ “รีแบรนด์” แต่การเอาคนเก่ามา “รียูส” แล้วมีโอกาสไปไม่รอด อาจต้องพิจารณาเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ใหม่หรือเปล่า อันนี้มีแต่พรรค กับเวลาที่จะบอกได้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”