นายนิยม เวชกามา ส.ส.พรรคพลังประชาชน และคณะ ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายการเงิน ยื่นเสนอต่อหน่วยงานของสภาผู้แทนราษฎร​ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565

สาระบางส่วนในร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. … ที่กล่าวถึงข้างต้น มีดังต่อไปนี้

กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนามีสิทธิรวมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้ง สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่จะรวมตัวกันดำเนินการต้องไม่มีวัตถุประสงค์ ขัดแย้งต่อหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา ไม่ถูกครอบงำโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง

กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่ประสงค์จะเข้าร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาให้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ไว้ต่อนายทะเบียน

กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ไม่น้อยกว่าห้าสิบองค์กร มีสิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อนายทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและดำเนินการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกำหนดให้มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำหรือการสั่งการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง

กำหนดให้เมื่อจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาแล้ว ให้คณะผู้เริ่มก่อการจัดทำ ร่างข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและเรียกประชุมสมาชิกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมจัดทำข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา เลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา กำหนดนโยบาย แนวทางหรือแผนงาน เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และกิจการอื่นที่คณะผู้เริ่มก่อการเห็นสมควร

กำหนดให้การจัดทำข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาต้องมีเรื่องที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย 
1. วัตถุประสงค์ของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
2. แนวทางในการดำรงความเป็นอิสระ 
3. โครงสร้างของการบริหารงานซึ่งอย่างน้อยต้องมีคณะกรรมการนโยบายที่ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการนโยบายตามที่กําหนด และคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดํารงตําแหน่ง การพ้นจากตําแหน่ง และวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการนโยบาย โดยกรรมการนโยบายอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และตัวแทนขององค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาจากพื้นที่ต่างๆ โดยจะให้มีคณะ กรรมการบริหารด้วยหรือไม่ก็ได้  
4. โครงสร้างขององค์กรซึ่งอย่างน้อยต้องมีสํานักงานสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และหน่วยงานประจําจังหวัด ซึ่งอาจมีทุกจังหวัดหรือบางจังหวัดตามที่เห็นสมควร ตลอดทั้งวิธีการบริหารงาน ของสํานักงานสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเลขาธิการสํานักงานสภาองค์กรส่งเสริม กิจการพระพุทธศาสนาเป็นหัวหน้าสํานักงานและวิธีการบริหารงานในหน่วยงานประจําจังหวัด รวมตลอดทั้งผู้มีอํานาจกระทําการแทนสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา 
5. หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาเข้าเป็นสมาชิก และสิทธิ หน้าที่ และประโยชน์ของสมาชิก ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับสมาชิกต้องไม่มีลักษณะเป็นการกีดกัน มิให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าเป็นสมาชิกได้
6. จรรยาบรรณและการควบคุมการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและโทษ กรณีมีการละเมิดจรรยาบรรณ
7. ค่าลงทะเบียน ค่าบํารุง และค่าบริการที่จะพึงเรียกเก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก  
8. การบัญชีและการเงิน การสอบบัญชี และการประเมินผลการปฏิบัติงานของสภาองค์กรส่งเสริม กิจการพระพุทธศาสนา 
9. การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การกําหนดตําแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินบําเหน็จ รางวัลพนักงาน รวมทั้งระเบียบ วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน 

อีกทั้งยังกำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ นอกจากที่ได้กำหนดไว้ให้มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของพระภิกษุสามเณร รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 
2. สนับสนุนและดําเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนา แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับการดําเนินงานที่อาจกระทบต่อกิจการพระพุทธศาสนา หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่กิจการพระพุทธศาสนา 
3. รายงานการกระทําหรือละเลยการกระทําอันมีผลกระทบต่อกิจการพระพุทธศาสนา ไปยังหน่วยงาน ของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ 
4. สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาให้มีการดําเนินงานอย่างมี ประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในระดับ จังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
5. สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดําเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ พระภิกษุสามเณร 
6. ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนาตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมี ผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดําเนินคดีในกรณีที่พระภิกษุสามเณรหรือองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ถูกฟ้องคดี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอํานาจประนีประนอมยอมความด้วย

ผู้ที่เกี่ยวข้องตามร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. …  ประกอบด้วย กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาเถรสมาคม พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประชาชนทั่วไป

ประเด็นรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานของสภาผู้แทนราษฎรจัดทำขึ้นนั้น มีจุดประสงค์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆของสังคมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มี 7 ประการ ดังนี้
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนามีสิทธิรวมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาไม่น้อยกว่าห้าสิบองค์กรมีสิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อนายทะเบียนกลาง เพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและดำเนินการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำหรือการสั่งการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้แก่สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ตามระยะเวลาที่สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนากำหนด แต่ต้องไม่เกินสามปี
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายในหกเดือนนับแต่วับสิ้นปีปฏิทิน
7. ท่านมีความคิดเห็นประเด็นอื่นๆ อย่างไรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ 

ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปว่า มีความเห็นด้วยหรือไม่ และมีความเห็นอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับนี้

กรณีที่นักการเมืองและคณะได้ร่วมกันเข้าชื่อยื่นเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. … ให้หน่วยงานสภาผู้แทนราษฎรนำสู่การพิจารณาตามขั้นตอน เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตรากฎหมายฉบับนี้

ขอให้ชาวพุทธที่มีความรู้ความเข้าใจและมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) จากการศึกษาพระธรรม จึงไม่ควรนิ่งนอนใจหรือวางเฉยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อกลไกการทำงานของฝ่ายพุทธจักรซึ่งมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ และกลไกการทำงานของฝ่ายอาณาจักรซึ่งมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่กำกับ ดูแลกิจการคณะสงฆ์

หากมีองค์กรอื่นเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่แทรกซ้อนกับกลไกการทำงานของฝ่ายพุทธจักรและฝ่ายอาณาจักรแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดี รังแต่จะสร้างความสับสนอลหม่านและก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม มีความสุ่มเสี่ยงให้พุทธบริษัทแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งนำไปสู่ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ต่างๆ นานา 

ชาวพุทธพึงทราบว่า ก่อนที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อปีพุทธศักราชที่ 0 ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้งหลาย ให้ดำรงพระพุทธศาสนาต่อไป โดยมีพระธรรมเป็นศาสดาสืบแทนพระองค์

พระธรรมนั้นตรัสไว้ดีแล้ว ซึ่งประกอบด้วย พระธรรมและพระวินัย เรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นสิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องให้ความเคารพสูงสุด ไม่กระทำย่ำยีต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บวชเป็นภิกษุ หากไม่มีศรัทธาในการศึกษาพระธรรม ไม่มีอัธยาศัยในการครองตนอยู่ในเพศบรรพชิต อย่าริได้บวชเลย ทุกวันนี้ภิกษุส่วนใหญ่ไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องทั้งในด้านการศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) และการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) อีกทั้งประพฤติปฏิบัติล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัย โดยไม่ละอายชั่ว ไม่กลัวบาป เป็นเพราะไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบวช และมีลักษณะต้องห้ามต่างๆ นี่จึงเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นกับภิกษุและกิจการของสงฆ์ ฝ่ายพุทธจักรและฝ่ายอาณาจักรจะต้องผนึกกำลังร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก” อย่างแท้จริง

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรพุทธศาสนา

…………………………………..

คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม
ร่างพรบ.องค์กรพุทธศาสนา
ร่วมฟังการสนทนาธรรม “แก้ทุกปัญหาได้ด้วยพระธรรม” โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์