ณ เวลานี้ คนไทยทั้งประเทศ เตรียมทำใจไว้รอรับยุค “ดอกเบี้ยแพง” ไว้ได้เลย เพราะบรรดากูรูต่างฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน

อย่างน้อยเพิ่มขึ้น 0.25% ต้องมีให้เห็น และจะทยอยปรับขึ้นทุกรอบของการประชุมในช่วงที่เหลือของปี เบ็ดเสร็จแล้วเมื่อถึงสิ้นปี 65 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจปรับขึ้นไป อยู่ที่ระดับ 1.25% เป็นอย่างต่ำ

เมื่อดอกเบี้ยขึ้น เท่ากับต้นทุนขึ้น ค่าใช้จ่ายขึ้น ใครเป็นหนี้เป็นสิน ก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นรายใหม่ก็ต้องมีภาระค่าผ่อนชำระรายงวดเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5%

แต่ถ้าเป็นรายเก่าที่ผ่อนชำระอยู่แล้ว แม้ค่างวดไม่เพิ่มขึ้น แต่แบงก์ย่อมต้องตัดค่าดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น เหลือเงินต้นไม่เท่าไหร่ ในแต่ละงวด สุดท้ายก็ต้องใช้เวลาในการผ่อนชำระนานขึ้นอยู่ดี

เมื่อดอกเบี้ยแพงขึ้น ย่อมทำให้ การตัดสินใจซื้อบ้านอาจหยุดชะงัก เพราะกำลังซื้อกำลังผ่อนไม่ไหว ก็ต้องชะลอไว้ก่อน ส่งผลไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจสะดุดหรือชะลอตัวไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จึงออกมากระตุกความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ ด้วยการย้ำว่า เตรียมหารือกับแบงก์ชาติ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 1 ปี

เพราะอย่าลืมว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นภาคธุรกิจใหญ่ ที่มีธุรกิจต่อเนื่องเป็นจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญยังมีผลต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ประมาณ 8-9% ทีเดียว

หากภาคอสังหาฯ สะดุดติดหล่มดอกเบี้ยแพงและอีกสารพัด นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยก็ย่อมสะดุดติดสารพัดหล่มตามไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้นหากรัฐบาลจะขยายเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น นั่นก็ย่อมทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสมากขึ้นเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุในปี 65 นี้ โดยต้องหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คงมาตรการนี้ต่อไปอีก

มาตรการนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้คนซื้อที่อยู่อาศัยได้มากทีเดียว ยกตัวอย่าง บ้านราคา 3 ล้านบาท ปกติต้องเสียค่าโอนและจดจำนอง รวมกันสูงถึง 9 หมื่นบาท แต่เมื่อลดเหลือ 0.01% รวมแล้วจะจ่ายเพียง 600 บาท

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แอลทีวี” นั่นแหละ โดยมาตรการนี้แบงก์ชาติเจ้าของมาตรการ ได้อนุโลมหรือผ่อนผันให้บรรดาสถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน ไปจนถึงสิ้นปี 65

มาตรการผ่อนปรนแอลทีวี จะเอื้อให้กับคนที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป รวมถึงที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

รวมไปถึงการขยายสินเชื่อจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ระยะเวลา 4 ปี ซึ่งมาตรการนี้จะดูแลผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

ไม่เพียงเท่านี้!! ขุนคลัง ยังกำชับให้ บรรดาแบงก์รัฐทั้งหลาย ช่วยกันตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แม้สุดท้ายแล้ว เรื่อง “การขึ้นดอกเบี้ย” จะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็ตาม!!

แต่อย่างน้อย ในเวลานี้ หากทุกฝ่ายต่างพยายามช่วยกันดูและเศรษฐกิจให้เดินหน้า ให้ผงกหัวขึ้นให้ได้ ก็เป็นผลดีกับคนไทยทั้งประเทศนั่นแหละ

อย่าลืมว่า…ถ้าจีดีพีของประเทศไม่เขยิบ รายได้ของประเทศไม่เพิ่ม นั่นก็หมายความว่า…เงินในกระเป๋าของคนไทยก็ไม่เพิ่มเช่นกัน ความฝันของคนอยากมีบ้านก็ต้องดับสลายไปเช่นกัน!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”