รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สั่งการกรมทางหลวง(ทล.) เร่งสร้างความมั่นใจประชาชนเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างสะพานทั่วประเทศในความรับผิดชอบกว่า 17,000 สะพาน จากเหตุสลดอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 ถนนพระราม 2 ถล่มระหว่างการซ่อมแซมพื้นสะพาน เมื่อเวลา 20.00 น. วันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. 65 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย

รวมทั้งยังลงนามคำสั่งกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวงขึ้น 2 คณะ คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการจัดระเบียบมาตรการควบคุมงานก่อสร้างของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยให้รายงานผลภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 19 ส.ค.)

ล่าสุดกรมทางหลวงจะจัดจ้างสถาบันการศึกษาเข้าตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของโครงสร้างสะพาน ทั้งสะพานกลับรถ (เกือกม้า) สะพานยกระดับ สะพานลอยข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ บนโครงข่ายทางหลวงสายหลักซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (Double Check) อย่างละเอียด ตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้ทางมากยิ่งขึ้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบัน ทล.ได้ตรวจสอบประเมินสภาพโครงสร้างสะพานตามรอบเวลา และมีมาตรฐาน ขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละชนิดของโครงสร้างสะพาน และบูรณะซ่อมแซมภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า มีการบริหารจัดการด้วยระบบบริหารงานบำรุงรักษาสะพาน (Bridge Maintenance and Management System) หรือ BMMS ซึ่งเป็นระบบจัดการข้อมูลสะพานทั่วประเทศ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2554 และปรับปรุงอัพเดทอยู่เสมอให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดสะพาน

กระบวนการตรวจสอบสภาพโครงสร้างในแต่ละส่วน เริ่มจากการวิเคราะห์และประเมินผลด้านการให้บริการ (Condition Rating) นำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของสะพาน เพื่อใช้วางแผนการซ่อมบำรุง แก้ไขปรับปรุงในระยะเร่งด่วน และระยะยาวเป็น 3 ระดับ ตามรอบระยะเวลา ได้แก่

1.การสำรวจปกติ เป็นการตรวจสอบโดยทั่วไปรอบระยะเวลา 1-2 ปี

2.การตรวจสอบหลัก เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานอย่างละเอียด เพื่อทำให้รู้ถึงสภาพของสะพาน ผู้ตรวจสอบจะนำข้อมูลมาจัดวางแผนการซ่อมแซม/บำรุงรักษาให้สะพานมีระดับสภาพการใช้งานในระดับปกติ รอบระยะเวลา 7-10 ปี หรือเมื่อพบความเสียหายจากการตรวจสอบปกติ

3.การตรวจสอบแบบพิเศษ เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานในกรณีที่สะพานมีความเสียหายหรือเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลต่อการใช้งานของสะพาน หรือกรณีสะพานที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของโครงสร้าง ซึ่งการวินิจฉัยความเสียหายจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการเฉพาะกรณี

การตรวจสอบอาจใช้การทดสอบแบบทำลาย (Destructive Testing) หรือการทดสอบแบบไม่ทำลาย (Nondestructive Testing) เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของโครงสร้าง และนำไปสู่การวางแผนงานบูรณะซ่อมแซมอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้โดยปกติในทุกๆ สัปดาห์ แขวงทางหลวงทั่วประเทศ 104 แห่ง มีการตรวจสอบการใช้งานสะพานในเส้นทางหลวงที่รับผิดชอบ เพื่อให้อยู่ในสภาพแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่เป็นปกติสม่ำเสมอ

อธิบดีกรมทางหลวง ยืนยันว่า สะพานที่เปิดใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ได้สำรวจเบื้องต้นแล้ว ยืนยันว่าทุกสะพานมีความแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัย และยังได้สำรวจ วิเคราะห์ ประเมินผล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญกรมทางหลวงในระบบ BMMS อย่างละเอียดขึ้นไปอีกตามรอบเวลา แต่จะให้สถาบันการศึกษาเข้ามาตรวจสอบซ้ำเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

รวมทั้งได้สั่งการทุกโครงการก่อสร้างทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการซ่อมแซมขนาดเล็ก ให้ปิดกั้นการจราจรขณะก่อสร้างหรือซ่อมแซมสะพานทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้ทาง ในการสัญจรบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างปลอดภัย

สำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่เกิดเหตุ ทีมผู้เชี่ยวชาญ จะเข้าทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานทุกจุด หลังจากได้รื้อย้ายคานสะพานแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดช่องทางหลักถนนพระราม 2 ให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ เมื่อได้ผลวิเคราะห์ความแข็งแรง จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม แข็งแรง ปลอดภัย แล้วออกแบบโครงสร้างใหม่ โดยพิจารณา 2 ทางเลือกในการก่อสร้างต่อหรือพิจารณาทุบสะพานตัวนี้แล้วก่อสร้างใหม่ทั้งตัว เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยโดยเร็ว

ส่วนครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กรมทางหลวงจะรับผิดชอบเยียวยาเต็มที่ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีวิศวกรใหญ่ด้านควบคุมการก่อสร้างของกรมทางหลวงเป็นประธาน และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างสะพานเป็นคณะกรรมการ รวมไปถึงขอความอนุเคราะห์จากองค์กรวิชาชีพภายนอก ได้แก่ ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และผู้แทน สภาวิศวกร เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยโดยจะทราบผลภายใน 14 วัน (วันที่ 14 ส.ค.)

บทเรียนครั้งใหญ่ ”กรมทางหลวง” บันทึกช่วยจำ…สะพานถล่มต้องไม่ซ้ำรอย

ในนามของกรมทางหลวง กราบขออภัยเป็นอย่างสูงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่าจะทำทุกอย่าง ทุกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชน” นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ให้คำมั่น…

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง