น่าเวทนาเมื่อช้างในโขลงอีก 2 ตัว คาดว่าเป็นแม่ช้าง และลูกอีกตัวพยายามช่วยเหลือลูกช้างตัวที่ประสบเหตุ ก่อนที่ลูกช้างตัวดังกล่าวจะถูกน้ำพลัด ตกเหวนรกหายไปในที่สุด สร้างความสะเทือนใจแก่นักท่องเที่ยวที่พบเห็นเป็นอย่างมากนั้น ซึ่งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก ที่คร่าชีวิตช้างป่าเขาใหญ่ แต่เหตุสลดนี้เคยเกิดขึ้นมาซ้ำรอยประวัติศาสตร์ รวมคร่าชีวิตช้างป่าทั้งหมดถึง 28 ตัว ใน 36 ปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นแห่งความสูญเสีย ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2529 มีรายงานจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้พบซากช้าง 1 ตัว นอนตายอยู่ที่น้ำตกเหวนรก เจ้าหน้าที่จึงไปยังที่เกิดเหตุทันที และได้พบช้างพลายนอนตายติดโขดหินลอยแช่น้ำอยู่ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าตกลงมาจากหน้าผาด้านบน ซึ่งมีความสูงกว่า 50 เมตร อาจตกลงมากระทบกับผาหินเป็นสาเหตุทำให้ช้างตาย ต่อมา เดือน ต.ค. 2530 ช้างป่าตกเหวตายถึง 4 ตัว เป็นแม่ช้าง 2 ตัว หนึ่งในช้างที่ตายเป็นลูกช้างที่ตกลงจากหน้าผา ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ตายทันที ลูกช้างจึงพยายามหนีตายสุดชีวิตในขณะที่บาดเจ็บขาหักอยู่เป็นเวลาถึง 2 วัน โดยไม่มีใครสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ สุดท้ายลูกช้างหมดแรงจึงถูกกระแสน้ำพลัดตกและตายไปในที่สุด จากนั้นปี 2531 มีรายงานช้างป่าตกหน้าผาเหวนรกตายอีก 2 ตัว กระทั่ง เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2535 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีช้างป่าแม่ลูก 8 ตัว ถูกกระแสน้ำพัดพาร่างจมหายไปในพริบตาขณะเดินข้ามธารน้ำเหนือน้ำตกเหวนรก และตายทั้งหมด

โดยต่อมาไม่นานอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็ได้สร้างเสาคอนกรีต เพื่อให้ช้างได้เดินข้ามห่างจากหน้าผาประมาณ 100 เมตร เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมช้างตกหน้าผาเหวนรก และในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ช้างป่าตกหน้าผาเหวนรกนั้นอีกเลย

กระทั่งมาเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2562 เมื่อมีรายงานว่าพบซากช้างป่าในน้ำตกเหวนรก 6 ตัว โดยพบว่าทั้งหมดตกจากหน้าผาน้ำตกเหวนรก และ วันที่ 8 ต.ค. 2562 จากเหตุการณ์ดังกล่าวพบซากช้างป่าในน้ำตกเหวนรกเพิ่มอีก 5 ตัว รวมเกิดความสูญเสียช้างป่าจากเหตุการณ์นี้รวม 11 ตัว และเมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 ก.ค. 2565 ขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังถ่ายภาพในจุดชมวิวของน้ำตกเหวนรก ก็พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อลูกช้างถูกกระแสน้ำเชี่ยวซัดตกจากหน้าผาเหวนรก จากชั้นที่ 1 ตกลงมาสู่ชั้นที่ 2 ที่น่าเวทนาเมื่อช้างในโขลงอีก 2 ตัว คาดว่าเป็นแม่ช้าง และลูกอีกตัวพยายามช่วยเหลือลูกช้างตัวที่ประสบเหตุ สร้างความสะเทือนใจแก่นักท่องเที่ยวที่พบเห็นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าเศร้าใจตามไปอีก เมื่อลูกช้างอีกตัวที่พยายามเข้าช่วยเหลือต้องมาจมน้ำตายไปอีกด้วย ทำให้เหตุการณ์ล่าสุดนี้ มีช้างตายรวม 2 ตัว และทั้งหมดนับเป็นความสูญเสียที่ซ้ำรอยโขลงช้างป่าตกหน้าผาเหวนรก ย้อนรอยตั้งแต่เมื่อปี 2529 เป็นต้นมา เกิดความสูญเสียแล้ว 28 ตัวด้วยกัน.