ตกอก!! ตกใจ!! กันยกใหญ่….กับการประกาศ “ลด” การคุ้มครองเงินฝาก ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือ สคฝ. เหลือเพียงไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป

แหม…บางคนตีอกชกตัวลืมไปด้วยซ้ำว่าเงินฝากในบัญชีธนาคารของตัวเองน่ะ มีไม่กี่บาทด้วยซ้ำไป เพียงแต่เห็นกระแสข่าวแชร์ว่อนกันให้ทั่ว ก็นึกถึงเงินในบัญชีตัวเองว่า… วุ้ยว้ายตายแล้ว!! เงินชั้นจะหายไปจากบัญชีหรือเปล่าเนี่ย?

ที่ผ่านมาการลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท ได้ถูกเลื่อนออกมา 1 ปี จากเดิมที่ต้องดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ด้วยพิษสงของโควิด จนทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบตลาดเงิน ผันผวน เพื่อเป็นสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาผู้ฝากเงิน รัฐบาลจึงมีมติให้ สคฝ.ยังคงให้การคุ้มครองเงินฝากในจำนวน 5 ล้านบาทไปก่อน

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 51 เพื่อดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินกรณีที่สถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก  35 แห่งล่มสลาย ปิดกิจการ หรือโดนเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้ได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน

หากทุกคนยังจำเรื่องราวของวิกฤติต้มยำกุ้งกันได้ คงรู้ซึ่งถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้คนไทยต้องเป็นหนี้หัวโตกว่า 1.4ล้านล้านบาท ได้เป็นอย่างดี เพราะจนถึงวันนี้หนี้ก้อนนี้ก็ยังไม่หมด ยังเหลืออีกกว่า 7 แสนล้านบาท

นั่นแหละ…คือที่ไปที่มาและเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดสคฝ.ขึ้นมาทำหน้าที่แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน อย่างเป็นระบบ เป็นสากลที่กว่า 100 ประเทศต่างใช้ระบบการคุ้มครองเงินฝากเข้ามาดูแลผู้ฝากเงิน ที่มีเงินฝากใน 5 ประเภท คือ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน

ถามว่า… แล้วอย่างนี้คนที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทล่ะ จะทำอย่างไร? นั่น…ต้องหันกลับมาถามตัวเองก่อนว่า ณ เวลานี้ คุณเชื่อมั่นระบบสถาบันการเงินไทยแค่ไหน?

อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ ต่างออกกฎออกระเบียบสารพัดมากมาย เพื่อมาคุมเข้มสถาบันการเงินไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูงถึง 1.49 เท่า เพื่อ ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นมาอีก

ในแง่ของแบงก์ ในแง่ของสถาบันการเงินเอง ก็พัฒนาสารพัด เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง เพิ่มความมั่นคงให้กับแบงก์ตัวเอง โดยสามารถทำกำไรในแต่ละปีเป็นพันล้านบาท ตามที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.โน่น

แบงก์ชาติ ได้แจงฐานะของแบงก์ล่าสุด ในไตรมาสแรกของปี 64 โดยระบบ ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,017.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ 20%

ส่วนเงินสำรองอยู่ที่ 823.4 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติอยู่ที่ 186.5%

เห็นฐานะแบงก์กันขนาดนี้แล้ว หากยังไม่มั่นใจ วิธีที่ง่ายที่สุดในเวลานี้ก็ต้องกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 35 แห่ง หรืออาจหันเหไปพึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันเงินฝาก เพราะมีกฎหมายเฉพาะตัวดูแลอยู่แล้ว

หรือไม่!! ก็ต้องหาทางนำเงินไปลงทุนในรูปแบบอื่นที่เห็นว่าผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งเวลานี้…ธนาคารพาณิชย์ ก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายเพื่อดึงดูดเจ้าของเงินอยู่แล้ว ก็เลือกเอาตามใจปรารถนาได้ โดยเฉพาะผลตอบแทนว่าคุ้มค่าต้องตาโดนใจแค่ไหน?

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนจนกับคนรวย อยู่ถึง 10.3 เท่า ดังนั้น…จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เมื่อลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาเหลือเพียง 1 ล้านบาท ก็ยังครอบคลุมบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์กว่า 98% จากผู้ฝากเงินถึง 82.1 ล้านราย 12.36 ล้านบัญชี 3.23 ล้านล้านบาท

ในแง่ของธนาคารพาณิชย์เองความคุ้มครองเงินฝากจะครอบคลุมประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 5 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ส่วนที่เหลืออีก 4 ใน 5 ก็เป็นบัญชีของผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบของบุคคลที่มีฐานะ กลุ่มสถาบัน ธุรกิจ ที่มีรวมกันแล้วประมาณ 1.79 ล้านบัญชี หรือ 1.5% ของผู้ฝากทั้งระบบ

ซึ่ง…คนเหล่านี้!! ไม่ต้องห่วงเลยในเรื่องของการดูแลความมั่งคั่งของตัวเองให้ปลอดภัย! ขณะที่ผู้ฝากเงินเกือบทั้งหมดของประเทศก็ยังคงได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิม

ในยามนี้ ในยามที่เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ ด้วยพิษร้ายของโควิดเดลต้า จึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่หลายคนจะอกสั่นพรั่นพรึงกับการลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียงแค่ 1 ล้านบาท.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”