คงหนีไม่พ้นมาจากปัญหา เจ้าไวรัสโควิด-19 เชื้อกลายพันธุ์” ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล โดนเล่นงาน เริ่มจาก สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ B117) ตั้งแต่ เม.ย. 64  ล่าสุดมาเจอ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) เริ่มแพร่ระบาดขยายวงไม่หยุด แต่ในพื้นที่ 4 จว.ชายแดนภาคใต้กลับกลายเป็น สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้ B.1.351) กำลังเล่นงานหนัก

หากย้อนกลับไป ทีมข่าว 1/4 Special Report  พยายามนำเสนอรายงานสะกิดเตือน ถึงเรื่องการคุมเข้มพื้นที่ชายแดนใต้ อย่ามองข้ามเด็ดขาด หลังมีสัญญาณเตือนอย่างเด่นชัด ตั้งแต่เดือน พ.ค. 64 มาเลเซียประกาศ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หลังถูกโควิดสายพันธุ์เบตา ระบาดอย่างหนัก ตอนแรกระยะเวลาล็อกดาวน์ จะสิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 64 แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงกว่า 5 พันราย เสียชีวิตตกวันละ 50-80 ราย (ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 734,048 ราย และเสียชีวิต 4,944 ราย) มาเลเซียจึงตัดสินใจขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีกจนกว่าจะควบคุมการระบาดได้

สายพันธุ์ “เบตา” เจอตั้งแต่เดือน พ.ค.
ขณะในพื้นที่ 4 จว.ชายแดนใต้ ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์เบตา ครั้งแรกช่วงปลายเดือน พ.ค. อยู่ในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากการตรวจสอบข้อมูลประวัติผู้ติดเชื้อ หนีไม่พ้นการลักลอบข้ามแดนกลับจากมาเลเซีย มาตามช่องทางธรรมชาติเพื่อมาหาครอบครัว แม้ทาง นายเจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส ตัดสินใจประกาศปิดพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน เป็นเวลา 14  วัน แต่ก็ดูจะไม่เป็นผลเชื้อยังไปโผล่ในบางอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ติดต่อกับชายแดนมาเลซีย ทำให้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผอ.กอ.รมน.ภาค 4 มีคำสั่งให้ พล.ต.ไพศาล   หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ต้องสั่งซีลพรมแดนจังหวัดนราธิวาสขั้นสูงสุด ปิดทางเข้า-ออกตามธรรมชาติทั้งหมด ตั้งแต่ อ.แว้ง จนถึง อ.ตากใบ โดยมีการ
เข้า-ออก ได้ในช่องทางสากล คือ ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก, ตากใบ และบูเกาะตา เท่านั้น ช่วงนั้นการซีลชายแดนก็สามารถหยุดคลัสเตอร์ของชายแดนนราธิวาสในระดับหนึ่ง

แต่ระยะเวลาผ่านไปยังไม่ทันจะครบ 1 เดือน ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ได้กลับมาเกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นใน อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อมีการตรวจพบว่า นักเรียนประจำในศูนย์ดาวะห์ หรือมัรกัส ได้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตาจำนวนมาก และยังไม่ทันที่ ศบค.ยะลา จะได้ดำเนินการคัดกรอง เพื่อกักตัวนักเรียนกลุ่มเสี่ยงก็ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนาตัวเอง ก็เหมือนเป็นผึ้งแตกรัง เพราะกลุ่มนักเรียนที่มาเรียนด้านศาสนา อยู่ใน อ.เมืองยะลา มาจากหลาย ๆ พื้นที่ อาทิ จ.ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา, สตูล, นครศรีธรรมราช  และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้

เรียกว่าในพื้นที่ 4 จว.ภาคใต้ ไม่ได้เจอเฉพาะสายพันธุ์เบตา แต่สายพันธุ์เดลตาก็พบคลัสเตอร์จากตามโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งจาก อ.จะนะ, สทิงพระ, สะเดา, นาหม่อม และหาดใหญ่ เพราะ จ.สงขลา มีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง เปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่าง ทำให้มีปฏิกิริยาจากกลุ่มการเมืองบางพรรคทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ออกมาโจมตีการทำงานของภาครัฐ นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดจนยอดติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว วัคซีนที่ได้ก็ไม่เพียงพอ รวมไปถึงโรงพยาบาลหลักและรพ.สนามก็เริ่มล้นไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย ภาคเอกชนก็พยายามเสนอนำเอาโรงแรมกลางเมืองหลายแห่งมาใช้ทำเป็นฮอสพิเทล (Hospitel) ไว้รองรับกักตัวผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการไม่รุนแรง

เอกชน-ทหารช่วยจัดหา “รพ.สนาม” เพิ่ม
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือการตรวจหาเชื้อในเชิงรุก ที่ต้องมีกำลัง เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ และปัญหาเรื่องของวัคซีน อยู่นอกเหนือการควบ คุมของจังหวัด แต่จังหวัดได้ดำเนิน การทำหนังสือถึงรัฐบาล โดยความเห็นชอบของ  ผู้แทนราษฎรทั้ง 8 เขต ที่ลงชื่อด้วยกันในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาล เพื่อให้เพิ่มจำนวนวัคซีน และให้จัดหาให้เร็วขึ้น และการสร้างความเข้าใจกับ ประชาชนที่อยู่ใกล้สถานที่กักตัวของผู้ติดเชื้อ ให้เชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลภายนอก รวมทั้งการใช้โรงแรมมาเป็นสถานที่กักตัวของผู้รับเชื้อ เป็นการช่วยเหลือ เอกชน นักธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบให้มีรายได้ในยามวิกฤติ

ในส่วนของโรงพยาบาลไม่พอเพียงกับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั้น พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผอ.กอ.รมน. ยืนยันว่า วันนี้ภารกิจของกองทัพ จากนโยบายของ ผบ.ทบ. คือการร่วมมือกับทางสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัด ในการหาที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในหลายจังหวัดได้มีการใช้ค่ายทหาร กองพล กองพันเสนารักษ์ เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะใน จ.สงขลา มีการใช้ค่ายทหารเป็นโรงพยาบาลสนามแล้ว 3-4 แห่ง และหากจังหวัดมีการร้องขอมา ก็จะจัดหาสถานที่ให้เพียงพอกับความต้องการ 

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีอีกภารกิจหนึ่งคือการ ’ปิดแนวชายแดน“ ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชายแดนไทย-มาเลเซียในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชายแดนไทย-เมียนมา ในภาคใต้ตอนบนตั้งแต่ จ.ระนอง ขึ้นไป เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งหลังจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. ได้สั่งให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน กองทัพก็มีความพร้อมที่จะส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเสริมตรวจสอบและควบคุมตามมาตรการอย่างเข้มงวดเช่นกัน

ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ขณะนี้ ศอ.บต. เร่งดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ หรือการสื่อสารกับคนในพื้นที่ ให้เข้าใจถึงการระบาดของโควิด ตั้งแต่การระบาดรอบแรก และได้สร้างความเข้าใจเพื่อให้ทุกคนมาฉีดวัคซีนอย่างเข้มข้น ทั้งภาษาไทย ภาษายาวี มีการให้ผู้นำศาสนา แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ทั้ง อสม. และบัณฑิตอาสามุสลิมในทุกหมู่บ้าน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ส่วนความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในเรื่องการอยู่ การกิน ศอ.บต. ได้ดำเนินการช่วยเหลือ ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชน ท้องถิ่น ในการรับซื้อพืชผลทางการเกษตร ที่เกษตรกร  ปลูกแล้วไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ไม่มีตลาดที่จะไป   ขายจากปัญหาของโควิด โดยนำพืชผลทางการเกษตร น้ำดื่ม และสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่าย เพื่อเป็นการช่วยเหลือ คลี่คลายความเดือดร้อน ในเบื้องต้น

หนุนแผนตรวจเชิงรุก 4 จว.ชายแดนใต้
ขณะเดียวกัน ปัญหาแคมป์แตก หรือ ผึ้งแตกรัง ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังคนงานก่อสร้างทราบข่าวมาตรการสั่งปิดชั่วคราว ระยะเวลา 30 วัน ทำให้บรรดาแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ จำนวนไม่น้อยรีบเดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนาของตัวเองเช่นเดียวกัน รวมไปถึงแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ถูกปิดก็ทำให้แรงงานต่างกลับบ้านเช่นกันจนน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลทำให้มีการแพร่เชื้อกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ทั้ง 4 จังหวัด ทั้งสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งทหาร-ตำรวจ-ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขร่วมตั้งด่านตรวจจุดคัดกรอง และตรวจสอบเข้มงวด ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งหมดคือ สถานการณ์ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังคงไม่นิ่ง และไม่ใช่สถานการณ์ของความเป็นจริง เพราะการเดินหน้าตรวจเชิงรุกยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งยังมีผู้ที่ติดเชื้อและไม่ออกมารายงานตัว ก็ยังกลายเป็นปัญหาและอุปสรรค ถือเป็นงานหนักของฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องร่วมมือกันวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุมให้ครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเชิงรุกเพื่อช่วยสกัดการขยายวง รวมไปถึงการจัดหาสถานที่รองรับดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือ เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ชาวบ้าน.