อาทิตย์นี้ขอเขียนอะไรส่วนตัวหน่อยครับ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเพิ่งมีโอกาสพูดคุยผ่านโปรแกรมซูมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คุยกันสนุกดี น้อง ๆ ก็ถามไถ่กันเยอะ หวังว่าอนาคตจะได้เข้ามาทำงานในวงการสื่อสารมวลชนกันเยอะๆ

สิ่งที่ผมคุยกับน้อง ๆ คือเรื่องการอ่านข่าวต่างประเทศ ผมย้ำว่าข่าวจากสำนักข่าวระดับโลกเป็นสิ่งที่คนข่าวไทยไม่ควรละเลย ไม่สนใจเด็ดขาด แม้ว่าภาษาอาจจะยาก แต่ก็ต้องฝึกฝนอ่าน ขอย้ำกับผู้อ่านทุกคนว่า ภาษาอังกฤษของผมนั้นไม่ได้ดีเลย (ในความหมายว่าไม่ดีจริง ๆ เลย ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ดีแบบถ่อมตนนะครับ) แต่ก็ต้องฝึก ไม่รู้ศัพท์ก็เปิดกูเกิลแปลเอา

เพราะการอ่านข่าวต่างประเทศจะได้เห็นมุมมองที่กว้างไกล รู้ว่าเขาทำข่าวในสากลโลกยังไง ไม่งั้นจะติดอยู่กับกะลาแบบนี้ แล้วก็อวดฉลาดว่าโลกมันมีแค่นี้ข้าพิชิตมาแล้ว หลงคิดว่าโลกที่แท้ก็แค่กะลากระจอก ๆ อันหนึ่งเท่านั้นเอง

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศมีการรัฐประหารอีกครั้ง ณ ตอนนั้นผมเบื่อกับข้อมูลข่าวสารในประเทศอย่างมาก ทุกอย่างถูกกดถูกปราบไร้ซึ่งข้อมูลเสรี ในที่สุดก็เลยเริ่มอ่านข่าวสารต่างประเทศอย่างจริงจัง ในความหมายว่าถ้าไม่ขี้เกียจก็จะนั่งอ่าน และได้รู้ว่าสามเหลี่ยมหัวกลับมันเป็นอย่างไร จากกรณี ชื่อตำรวจ นักการเมือง มากมายในย่อหน้าแรก เขาไม่เขียนกัน มีประเทศบ้า ๆ บอ ๆ อยู่ประเทศหนึ่งทะลึ่งเขียนกันแบบไม่อายเขา น่าอนาถอย่างมาก

หาเรื่องราวที่ชอบให้เจอ มันจะเป็นประกายไฟจุดเปลี่ยน

สำหรับผม มันคืเหตุการณ์สลายชุมนุมเทียนอันเหมิน ซึ่งกองทัพจีนกราดยิงประชาชนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1989 ในปี 2019 ครบรอบ 30 ปี ผมเห็นลิงก์ข่าวใน นิวยอร์ก ไทมส์ จึงกดเข้าไปอ่านดู แล้วก็พบข้อมูลการสลายชุมนุมเทียนอันเหมินน่าสนใจมาก จึงกดเพิ่มลิงก์รออ่านไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่านิวยอร์ก ไทมส์ เขาล็อกบทความอ่านฟรีไว้เพียง 3-4 ชิ้นเท่านั้น หมายความว่าหากอยากอ่านทั้งหมดจะต้องซื้อ สมัครเป็นสมาชิก

ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ อยากอ่านข่าวโลกภาษาอังกฤษมาก ๆ แต่ตัดสินใจไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรจะใช้บัตรเครดิตสมัครดีไหม คิดหนักมาก ถึงขนาดโทรศัพท์ไปหาพ่อช่วยประกอบการตัดสินใจ ซึ่งพ่อผมก็คงงงว่าเรื่องแบบนี้จะต้องมาปรึกษาด้วยเหรอ แต่ในความเป็นลูกกตัญญูแสนดี (อิอิ) ก็แนะนำไปว่าสมัครไปเถอะ มันไม่แพง ราคาตอนนั้นมันเป็นโปรโมชั่นแค่เดือนละ 30 กว่าบาท (1 ดอลลาร์)

พอคลิกเข้าไปอ่านเหมือนเปิดโลก คล้ายคนเข้าซ่องเป็นครั้งแรก มันน่าตื่นตาไปหมด

ตอนนั้นเองที่ผมรู้ ความสำคัญของอีเมล ที่มากไปกว่าการเอาไปสมัครอะไรต่าง ๆ นานา เพราะอีเมลที่เราใช้สมัครเป็นสมาชิกสำนักข่าวนี่แหละ เขาจะส่งข่าวน่าสนใจ มีให้เลือก ผมเลือกสรุปข่าวเช้าเอเชียและอื่น ๆ ตอนนี้ก็สมัครรับข่าวจากนิวยอร์ก ไทมส์ ประมาณ (ขอเวลาไปนับนิดครับ) 24 หมวดแล้ว แม่เจ้า!!!

ตอนสมัครก็ตั้งเป้าว่าจะอ่านให้ได้ทุกวัน วันไหนเมา เช้ามาแฮงก์ก็ต้องฝืนอ่าน พออ่านไปแล้วก็พบว่านักข่าวฝรั่งเขามีประเด็นน่าสนใจมากมาย ยิ่งมาเขียนเกี่ยวกับเมืองไทยนี่เฉียบขาดประเด็นดีมาก ๆ เหนือชั้นกว่านักข่าวบ้านเรา เหมือนนักฟุตบอลไทยไปเทียบกับนักฟุตบอลระดับโลก เหมือนเอาสโมสรท้องถิ่นไปเทียบกับสโมสรบาเยิร์น มิวนิก เลย คนละชั้นกันมาก แทบทุกเรื่อง

สิ่งที่ผมได้จากนิวยอร์ก ไทมส์ คือ การจบบทความด้วยประโยคสั้น ๆ ภายใต้เครื่องหมายคำพูด ซึ่งนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์จะทำแบบนี้เสมอ ในหลาย ๆ สกู๊ป ไม่ว่าจะเขียนอะไรมา เขาจะต้องหาประโยคเด็ดจบเสมอ อันนี้เป็นเสน่ห์ที่ผมชอบมาก และนำมาใช้ในบทความตัวเอง กว่าจะทำได้ ก็ต้องฝึกเหมือนกัน แต่ทำแล้วเห็นว่าดูดี ขอบคุณนิวยอร์ก ไทมส์ ด้วยนะครับ

ถึงบรรทัดนี้อย่าว่า กระแดะ นะครับ มันก็เหมือนอยากดูบอลฝรั่ง อยากเห็นอะไรดี ๆ ภาษาอังกฤษไม่ต้องดีมาก แต่คนอยากอ่านนะ ถ้าจะหาว่ากระแดะ กำเมืองเปิ้นฮ้องว่า สลิดดก ก็ช่างแม่คนด่าเถอะครับ ของดี อ่านแล้วทำให้เราดีขึ้น ไม่ต้องสนใจคนด่า เรามุ่งมั่นพัฒนาต่อไป คนด่ามันต้องมีวันเสียงแหบ แต่เราคนอ่านหาความรู้ วันข้างหน้ามีแต่พอกพูน ผมเชื่อดังนั้น

นั่นจึงทำให้ ผมรับสมัครซับตะไคร้ (ฮา) สำนักข่าวอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก รับมาหมดอีเมลซัดให้เต็ม เช้าตื่นมาขึ้นเตือนมหาศาลมาไล่ดู ใครไม่ชอบนิวยอร์ก ไทมส์ ก็ไปอ่านวอชิงตัน โพสต์ ที่ดีไม่แพ้กัน มี อเล็กซานดรา เป็ตตรี ที่เป็นคอลัมนิสต์วัยรุ่น แกเขียนด่าใครกวน ๆ คมคายทางภาษาและเชือดนิ่ม ๆ แบบนักแสดงตลกที่เก่งกาจ หรือไปอ่าเดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษที่เขียนข่าวได้ดีไม่แพ้กัน โมเดลคือจ่ายเงินบริจาค เป็นสมาชิกจะได้อะไรหลายอย่าง ผมอยากสนับสนุนอยู่ แต่เทใจไปให้กับ สำนักข่าวนิกเคอิของญี่ปุ่น ที่อายุร้อยกว่าปีมีเงินไปซื้อสื่อไฟแนนเชียล ไทมส์ สื่อดังของอังกฤษเจ้าของฉายา “ไบเบิลแห่งโลกทุนนิยม” ก็จะมีมุมมองแบบเอเชีย ช่วงนี้เขาให้นักธุรกิจไทยเขียนบทความบอกเล่าชีวิตตัวเอง เจ้าสัวซีพีเคยเขียนไปด้วย 30 ตอนน่าสนใจมาก พอเป็นภาษาอังกฤษมันสนุกมาก เหมือนเขาไม่ต้องกลัวจัดเต็มอย่างน่าสนใจ

มีน้องนักศึกษาถามผมว่า ถ้าเป็นพวกกีฬาจะอ่านอะไร ก็ ขอแนะนำดิแอธเลติก เลยครับ สมัครรายปี พันกว่าบาทคุ้มค่า อ๋อ นิวยอร์ก ไทมส์ ตอนนี้เดือนละ 8 เหรียญ หรือประมาณ 240 กว่าบาท ถูกกว่าไปกินเหล้ากรุงเทพฯ อีก สำหรับดิแอธเลติกนั้นเรื่องกีฬารู้ลึกรู้จริงอ่านสนุกมาก อย่างสโมสรเบรนท์ฟอร์ดที่เพิ่งเลื่อนชั้นและเอาชนะอาร์เซนอล 2-0 ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมาได้ ก็มีเรื่องราวน่าสนใจ พวกเขาใช้ระบบสถิติมาดูการซื้อขายนักเตะ เลยได้นักเตะดีมามากมาย น่าสนใจมาก

อนาคตผมเชื่อว่า สำนักข่าวไทยจะไม่ให้เราอ่านข่าวฟรีกันอีกต่อไปแล้ว อินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่โลกฟรีอีกต่อไป สำนักข่าวต้องปรับตัว คอลัมนิสต์ไทย ๆ ทั้งหลายก็ต้องปรับตัว มุมมองจากสำนักข่าว วิธีการรุดก้าวไปข้างหน้าก็น่าสนใจ พวกเขา ทำข่าว ปรับตัวเองอยู่เสมอ มันเป็นเทรนด์ที่คนทำงานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนข่าวไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉยโดยเด็ดขาด

หวังว่าผู้อ่านจะมีแรงใจและหาสำนักข่าวต่างประเทศที่ถูกใจให้เจอนะครับ ถ้าไม่รู้จะเริ่มอะไรขอโฆษณาแบบฟรี ๆ แนะนำ นิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่งผมชอบมาก สำหรับคนแนวคิดเอียงซ้าย อ่านสนุกเลย ไม่ซ้ายมาก แต่ไม่ขวา อ่านเพลินครบถ้วนได้มุมมองดี ๆ และขอปิดท้ายว่าอย่าไปสนคนมองว่ากระแดะ ปล่อยเขาด่าไป ภาษาอังกฤษไม่ดีแต่เสือกไปอ่านข่าวฝรั่ง ก็ปล่อยเขาว่าไป เขาด่าเราได้วันเดียว แต่เราสามารถรู้อะไรใหม่ ๆ ได้ทุกวัน

ลากันไปก่อนครับ พบกันใหม่ตอนหน้า ตอนสุดท้ายของหนอนโรงพักครับผม…

———————————————
คอลัมน์ : หนอนโรงพัก
โดย “ณัฐกมล ไชยสุวรรณ”
ขอบคุณภาพจาก : Unsplash…